New Southbound Policy Portal

ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาแอตแลนติก” ซึ่งเป็นคลังสมองของกรุงวอชิงตัน ดีซี

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 18 มิ.ย. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 มิถุนายน 2567  ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาแอตแลนติก (The Atlantic Council)” ซึ่งเป็นคลังสมองของกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อคณะตัวแทนที่เดินทางเยือนไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยในพื้นที่แถบมหาสมุทรแอตแลนติกมีต่อไต้หวัน พร้อมกล่าวว่า กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรประสานความร่วมมือกัน จึงจะสามารถปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพของโลกให้คงอยู่ต่อไป โดยในอนาคต ปธน.ไล่ฯ จะมุ่งผลักดันการทูตเชิงค่านิยมอย่างกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับบรรดาประเทศประชาธิปไตยในเชิงลึก เพื่อส่งเสริมให้ประชาธิปไตย สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรือง คงอยู่ต่อไปในโลกใบนี้  ตลอดจนยังเป็นการเสริมสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนทั้งสองฝ่ายอีกด้วย
 
เริ่มต้น ปธน.ไล่ฯ ได้กล่าวต้อนรับเหล่าอาคันตุกะจากสหรัฐฯ สาธารณรัฐลัตเวียและสาธารณรัฐเช็ก ที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน “สภาแอตแลนติก” เป็นคลังสมองที่มีอิทธิพลที่สุดในกรุงวอชิงตัน ดีซี ไม่ว่าข้อชี้แนะที่เกี่ยวกับความมั่นคงระหว่างประเทศหรือกิจการด้านการต่างประเทศ ล้วนได้รับการให้ความสำคัญจากทุกแวดวงในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป โดยเหล่าคันตุกะที่มาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในด้านความมั่นคงและการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวัน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป ต่างเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญระหว่างกัน โดยหวังว่า ในอนาคต พวกเราจะมุ่งขยายกลไกความร่วมมือและขอบเขตการแลกเปลี่ยนที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ผ่านกลไก “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ” “แผนริเริ่มทางการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” และ “การเจรจาทางการค้าและการลงทุน ระหว่างไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU)”
 
Mr. Egils Levits อดีตประธานาธิบดีลัตเวีย กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยโลก ประชาธิปไตยของไต้หวันถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ภาคประชาชนทั้งไต้หวัน สหรัฐฯ เช็กและลัตเวีย ต่างเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองบ้านเมืองที่ดี อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศประชาธิปไตยในโลกถือเป็นสัดส่วนน้อย ประชากรจำนวน 8,000 ล้านคนทั่วโลก มีเพียงส่วนน้อยที่มีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศประชาธิปไตยต้องเผชิญกับวิกฤตทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมุ่งเสริมสร้างประชาธิปไตยและความทรหดให้เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
 
Mr. Egils กล่าวว่า ประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีศักยภาพในการป้องกันตนเอง หรือกล่าวอีกนัยคือต้องเป็นประชาธิปไตยที่สามารถปกป้องประเทศได้ด้วยตนเอง โดยหลักการนี้จำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างให้แกร่งกล้ามากยิ่งขึ้น จึงจะสามารถรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสงครามลูกผสม สงครามไซเบอร์หรือสงครามจิตวิทยา เป็นต้น
 
Mr. Egils กล่าวว่า แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนวุ่นวาย แต่ประชาธิปไตยของไต้หวันก็ยังคงแข็งแกร่งและเปี่ยมด้วยความทรหด ด้วยเหตุนี้ คณะตัวแทนจึงหวังที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับปธน.ไล่ฯ และคณะรัฐบาลของไต้หวัน เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ล่าสุดในไต้หวันและสภาพการณ์โดยรอบ พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และเรียนรู้แนวทางการเพิ่มศักยภาพความทรหดจากไต้หวัน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้
 
Mr. Frederick Kempe ประธานสภาแอตแลนติก กล่าวว่า สุนทรพจน์ของปธน.ไล่ฯ มีทั้งความน่าเชื่อถืออย่างชาญฉลาด และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ฟัง โดยเฉพาะในท่อนที่ปธน.ไล่ เปรียบไต้หวันว่าเป็นประภาคารแห่งประชาธิปไตยโลก พร้อมระบุถึง “แผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพใน 4 มิติ” และ “หลักการ 4 ประการ” รวมไปถึงการแสดงวิสัยทัศน์ที่คาดหวังให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็น อาณาจักรแห่งเทคโนโลยี AI และซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นทิศทางการลงทุนที่ควรค่าเป็นอย่างยิ่ง
 
Mr. Kempe แถลงว่า สภาแอตแลนติกนอกจากจะมุ่งปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัยแล้ว ยังมุ่งดำเนินแผนปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างกระตือรือร้น อันเป็นการกระตุ้นให้ผู้นำยุคใหม่ของโลกและผู้นำยุคใหม่ของไต้หวัน มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด
 
Mr. Kempe เน้นย้ำว่า ยุคสมัยในปัจจุบันเต็มไปด้วยความท้าทาย วิกฤตและภัยคุกคาม ซึ่งวิกฤตในปี 2567 ทวีความรุนแรงมากกว่าในปี 2473 เนื่องจากจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือและอิหร่าน ต่างผูกสัมพันธ์เป็นประเทศที่เกื้อหนุนกัน ทั้งด้านกลาโหม อุตสาหกรรมและปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์
 
Mr. Kempe แสดงทรรศนะว่า ความมั่นคงระหว่างไต้หวัน – ยูเครนมีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น ความพ่ายแพ้ของยุทธภูมิหนึ่งจะส่งผลกระทบต่ออีกยุทธภูมิหนึ่ง ชัยชนะของยูเครนจะเกิดประโยชน์ต่อไต้หวัน จึงไม่ควรที่จะแยกเรื่องของสองประเทศนี้ออกจากกัน
 
Mr. Kempe เน้นย้ำว่า ไต้หวันภายใต้การนำของปธน.ไล่ฯ กำลังเผชิญกับสถานการณ์ความท้าทายเชิงภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพวกเราจะตกอยู่ในยุคสมัยที่เปี่ยมไปด้วยความท้าทาย แต่จากการพัฒนาทางเทคโนโลยี การรักษาพยาบาลและระบบประกันสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาทางประชาธิปไตยที่รุดหน้า เชื่อว่าความมุ่งมั่นพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย จะส่งผลให้พวกเราสามารถคว้าโอกาสและก้าวผ่านวิกฤตไปได้อย่างราบรื่นในเร็ววัน