New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 19 มิ.ย. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประธานงานแถลงข่าวเนื่องในวาระครบรอบ 1 เดือนแห่งการดำรงตำแหน่งปธน. ภายใต้หัวข้อ “เชื่อมั่นในรัฐบาลชุดใหม่ นำไต้หวันก้าวสู่ยุคใหม่” โดยปธน.ไล่ฯ ได้ประกาศจัดตั้ง “คณะกรรมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” “คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” และ “คณะกรรมการส่งเสริมไต้หวันสุขภาพดี” เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาประเทศ พร้อมเปิดการเจรจากับภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประชาคมโลก ตลอดจนดำเนินแผนปฏิบัติการต่างๆ ในไต้หวันต่อไปในอนาคต
ปธน.ไล่ฯ เชื่อว่า ในระหว่างที่พวกเรามุ่งดำเนินภารกิจการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปีพ.ศ. 2593 และขานรับการเอื้อประโยชน์ในกลไกความมั่นคงระดับโลก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ประเทศชาติเกิดความแข็งแกร่ง จะส่งผลให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในการดูแลโลกใบนี้ และกระตุ้นให้โลกใบนี้อ้าแขนเปิดรับไต้หวัน รัฐบาลชุดปัจจุบันของไต้หวันมีความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความเชื่อมั่นในการนำพาประเทศชาติ ก้าวสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้ไต้หวันของประชาคมโลกและไต้หวันที่ดียิ่งขึ้น สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องต่อไป
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้ :
ไต้หวันตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเรือที่คึกคักมากที่สุดในโลกจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ การที่ไต้หวันเป็นใจกลางสำคัญของโลกและเป็นแนวหน้าของโลกประชาธิปไตย ระบบห่วงโซ่อุปทานที่ทันสมัยของพวกเรา เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาทางเทคโนโลยียุคใหม่ ไต้หวันในปัจจุบันได้ก้าวขึ้นสู่ไต้หวันของประชาคมโลกแล้ว
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไต้หวันอาจส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน จึงได้กลายมาเป็นประเด็นระดับนานาชาติ และประเด็นนานาชาติก็ถือเป็นประเด็นของไต้หวันด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความยืดหยุ่นทางสังคมและการส่งเสริมสุขภาพ เป็น 3 ประเด็นที่ทั่วโลกเฝ้าจับตาและส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคประชาชนมากที่สุด
เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และเพื่อประสานความร่วมมือกับนานาประเทศ ปธน.ไล่ฯ จึงตัดสินใจจัดตั้งคณะกรรมการภายใต้สังกัดของทำเนียบปธน. 3 ชุด โดยมีปธน.ไล่ฯ เป็นประธาน เพื่อผนึกกำลังของภาครัฐและภาคประชาชน ในการนำเสนอแผนโซลูชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาคมโลก
เนื่องด้วยปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่แปรปรวนสุดขั้ว ได้ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก รายงานประจำปีพ.ศ. 2565 ของสหประชาชาติ (UN) ระบุไว้ว่า หากไม่ดำเนินมาตรการเชิงรุกอย่างกระตือรือร้น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มสูงขึ้น 2.8 องศาเซลเซียส ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา พวกเราต่างประสบกับฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงจนทำสถิติใหม่ ตั้งแต่มีการบันทึกสถิติเป็นต้นมา
พวกเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัญหา “ภูมิอากาศที่ผิดปกติ” โดยทั่วโลกจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ ที่เป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ต่างก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระดับผู้นำประเทศหรือนายกรัฐมนตรี เพื่อมุ่งแสวงหาแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ไต้หวันนอกจากจะมุ่งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแล้ว ยังได้มุ่งดำเนินการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสีเขียว รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม โดยพวกเรานอกจากจะมุ่งบรรลุแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์แล้ว ยังได้ปรับแนวทางความยืดหยุ่นทางสภาพแวดล้อม บนพื้นฐานของวิถีชีวิตสีเขียวที่ยั่งยืน และการเงินสีเขียว ทั้งนี้ เพื่อก้าวสู่การเป็นดินแดนที่มีความยั่งยืน
เมื่อเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงจากแผ่นดินไหวและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไต้หวันจำเป็นต้องเร่งกระชับฝีเท้า ในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางภาคประชาสังคมในภาพรวม ขณะนี้ทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาต่อความยืดหยุ่นในการปกป้องประเทศอย่างมีประสิทธิภาพของไต้หวัน เพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานในการบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
เมื่อระยะที่ผ่านมา แถลงการณ์ที่ประกาศโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) มีเนื้อความที่เน้นย้ำว่า “สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในระดับนานาชาติ” ซึ่งก็หมายความว่า การเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางสังคมในภาพรวมของไต้หวัน ก็เท่ากับเป็นการยกระดับความมั่นคงของไต้หวัน และการเสริมสร้างความมั่นคงของไต้หวัน ก็เท่ากับเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลก
หลังจากนี้ พวกเราจะขยายขอบเขตการฝึกอบรมและการประยุกต์ใช้พลังภาคประชาชน เสริมสร้างความพร้อมด้านสินค้าอุปโภคและระบบการลำเลียงปัจจัย 4 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างพลังงานและความมั่นคงทางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ตลอดจนส่งเสริมเครือข่ายการแพทย์และและสวัสดิการสังคม รวมถึงอุปกรณ์สำหรับอพยพลี้ภัย นอกจากนี้ ยังต้องสร้างหลักประกันทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การขนส่งและความมั่นคงทางเครือข่ายการเงิน
นอกเหนือจากประเด็นข้างต้นเหล่านี้ หลายปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความท้าทายทางการแพทย์ อย่างเชื้อดื้อยาหรือซูเปอร์บั๊ก (Superbug) ที่ทนทานต่อยาปฏิชีวนะ โรคระบาดข้ามพรมแดนที่มีแหล่งที่มาไม่ชัดเจน หรือโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุหลักของการคร่าชีวิตมนุษย์ ล้วนแต่เป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก
วิสัยทัศน์ “ไต้หวันสุขภาพดี” ที่พวกเรามุ่งสรรสร้างขึ้น ก็เพื่อต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว ในเร็ววันนี้ จะมีการอนุมัติ “กฎบัตรด้านสุขภาพ” เพื่อผลักดัน “โครงการส่งเสริมไต้หวันสุขภาพดี” โดยจะมุ่งยกระดับสภาพแวดล้อม ดึงดูดบุคลากรให้เข้ามาประกอบอาชีพในไต้หวัน และจะเสริมสร้างความครอบคลุมของระบบประกันสุขภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ พวกเรายังจะมุ่งผลักดันรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ควบคู่ไปกับการเร่งประยุกต์ใช้การแพทย์รูปแบบอัจฉริยะ ด้วยการจัดตั้งกองทุนผลิตภัณฑ์ยาตัวใหม่เพื่อรักษาโรคมะเร็ง ในงบประมาณหมื่นล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อผลักดันโครงการป้องกันโรคมะเร็งแห่งชาติอย่างเต็มกำลัง
คณะกรรมการ 3 ชุดข้างต้นจะจัดการประชุมขึ้นไตรมาสละครั้ง ผ่านเวทีการเจรจาที่มีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาฉันทามติของภาคประชาสังคม และนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความกระตือรือร้น