New Southbound Policy Portal

ไต้หวัน – ไทยร่วมลงนามความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ (FIPA) อย่างเป็นทางการ

สภาบริหาร วันที่ 28 มิ.ย. 67
 
เป็นระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ไต้หวัน – ไทยได้ร่วมเจรจาหารือเกี่ยวกับ “ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ” (FIPA) จนในที่สุด เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ปี 2567 นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) และนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป (TTEO) ได้ร่วมลงนามในความตกลงข้างต้น ถือเป็นการบรรลุหลักชัยสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน - ไทย โดยไทยเป็นประเทศที่ 5 ที่ได้มีการลงนามความตกลง FIPA กับไต้หวัน ต่อเนื่องจากฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนามและแคนาดา
 
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเจรจาเศรษฐกิจและการค้า สภาบริหารไต้หวัน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน (FSC) คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง ธนาคารกลางไต้หวัน รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการลงนามความตกลง FIPA ระหว่างไต้หวัน – ไทย ฉบับล่าสุดในครั้งนี้
 
ความตกลง FIPA ฉบับเก่าได้มีการลงนามและมีผลบังคับใช้ นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ตราบจนปัจจุบัน ล่วงเลยมาเป็นเวลา 28 ปีแล้ว เนื่องจากกฎระเบียบว่าด้วยหลักประกันการลงทุนระหว่างประเทศ และรูปแบบการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย นับวันยิ่งมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ความตกลงฉบับเก่าจึงไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการด้านการลงทุนในต่างแดนของผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ไต้หวัน - ไทย จึงตัดสินใจลงนามความตกลงฉบับใหม่ร่วมกัน เพื่อเป็นหลักประกันที่ครอบคลุมสมบูรณ์ให้แก่นักลงทุนทั้งสองฝ่าย ตลอดจนเป็นการยกระดับความเชื่อมั่นด้านการลงทุนระหว่างกันอีกด้วย
 
ในระหว่างขั้นตอนการเจรจาหารือ เจ้าหน้าที่ไต้หวันได้นำความคิดเห็นจากสมาคมภาครัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรม เช่น สมาคมแผงวงจรไฟฟ้าแห่งไต้หวัน (TPCA) สมาคมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไต้หวัน (TEEMA) และสภาอุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน (Chinese National Federation of Industries, CNFI) รวมถึงประเด็นที่ผู้ประกอบการไต้หวันมีความกังวล มาบรรจุเข้าไว้ในความตกลง FIPA ฉบับใหม่ ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้โดยสังเขปได้ดังนี้ :
 
1.ความโปร่งใสของข้อมูลการลงทุน : ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสของข้อมูล อาทิ กฎระเบียบ ขั้นตอนและมาตรการด้านการลงทุน และควรประกาศแจ้งให้ทุกฝ่ายร่วมรับทราบทุกการเปลี่ยนแปลง เพื่ออำนวยความสะดวกในการประเมินและจัดทำแผนการลงทุนของบริษัท
 
2. ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Window Service) : ทั้งสองฝ่ายควรมอบหมายให้มีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกิจการฝ่ายการลงทุนเป็นการเฉพาะ เมื่อใดที่ผู้ประกอบการมีข้อซักถามในกฎระเบียบด้านการลงทุน ก็สามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง
 
3. ความช่วยเหลือของรัฐบาลในการจัดการข้อพิพาทด้านการลงทุน : ทั้งสองฝ่ายจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ ในการจัดการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้านการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการให้คำปรึกษาและส่งเสริมให้มีการเปิดเจรจาระหว่างกัน
 
4. จัดตั้งคณะกรรมการกิจการด้านการลงทุน : ทั้งสองฝ่ายสามารถตรวจสอบสถานการณ์การดำเนินการล่าสุดตามข้อตกลง ผ่านคณะกรรมการกิจการด้านการลงทุน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ตีความกฎระเบียบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 
5. คุ้มครองการลงทุนจากดินแดนที่ 3 ของผู้ประกอบการไต้หวัน : นอกจากการลงทุนในรูปแบบดั้งเดิมอย่างการจัดตั้งโรงงานและการร่วมหุ้นแล้ว ยังต้องให้ความคุ้มครองในการลงทุนทางอ้อมผ่านดินแดนที่ 3 ของผู้ประกอบการไต้หวันควบคู่ไปด้วย
 
นอกจากนี้ ความตกลง FIPA รูปแบบใหม่ยังมีการบังคับใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสาธารณประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ที่ตั้งอยู่บนหลักการด้านสาธารณสุขและสุขภาพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน การคุ้มครองผู้บริโภค และเสถียรภาพทางการเงิน เป็นต้น โดยหวังที่จะใช้แนวทางนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการฉวยโอกาสในการตีตวามข้อตกลงข้างต้นไปใช้ในทิศทางที่เป็นการสร้างความท้าทายต่อนโยบายและผลประโยชน์ส่วนรวมของดินแดนที่เข้าไปลงทุน