New Southbound Policy Portal
คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 4 ก.ค. 67
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (National Science and Technology Council, NSTC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และมูลนิธิการวิจัยด้านยุทธศาสตร์แห่งสวีเดน (Swedish Foundation for Strategic Research, SSF) ได้ลงนามต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ระหว่างกัน โดยมีนายเยี่ยจื้อเฉิง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการประสานงานระหว่างประเทศ คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน และ Prof. Lars Hultman ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ SSF เป็นผู้ลงนาม และมีนายเฉินปิ่งอวี่ รองประธานคณะกรรมการ NSTC เป็นสักขีพยาน ซึ่งในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะร่วมผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน - สวีเดน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนของบุคลากรระหว่างสองฝ่าย เพื่อส่งเสริมการบูรณาการศักยภาพทางวิชาการและวิทยาศาสตรในเชิงลึกต่อไป
รองประธานเฉินฯ กล่าวระหว่างการพบปะหารือ โดยชี้ว่า สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศสุดยอดนวัตกรรมระดับโลก และมีบทบาทเป็นผู้นำในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งควรค่าแก่การเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ของไต้หวัน Mr. Hultman รู้สึกยินดีที่เห็นนักวิชาการทั้งสองฝ่ายมุ่งสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ ผ่าน MoU ข้างต้น โดยในครั้งนี้ Mr. Hultman ได้เดินทางเยือนไต้หวันเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลงนาม MoU ร่วมกับ NSTC แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยในระหว่างการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ Mr. Hultman ยังมีกำหนดการเข้าพบปะกับสถาบันวิจัยและทดลองแห่งไต้หวัน (National Applied Research Laboratories, NARLabs) และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทเป (Taipei Tech) เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาตร์ระหว่างกัน ตลอดจนเพื่อแสวงหากลไกความร่วมมือที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นในภายภาคหน้าต่อไป
NSTC ได้ร่วมลงนาม MoU ว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับมูลนิธิ SSF ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดการประกวดคัดเลือกโครงการวิจัยต่างๆ จากกลุ่มนักวิชาการที่ยื่นเสนอเข้ามา พร้อมทั้งทำการอนุมัติโครงการวิจัยแบบทวิภาคีรวม 14 โครงการที่ยื่นเสนอโดยกลุ่มนักวิชาการ 6 กลุ่ม ซึ่งมีนักวิชาการไต้หวันจำนวน 14 คน และนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน 23 คนร่วมมือกันในการวิจัยเกี่ยวกับระบบสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพและวัสดุศาสตร์ อาทิ แบตเตอรี่ลิเทียมไร้สารตะกั่ว เทคโนโลยีระบบเครือข่ายไร้สาย เป็นต้น