New Southbound Policy Portal
กระทรวงการเกษตร วันที่ 9 ก.ค. 67
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นักศึกษาฝึกงานชาวฟิลิปปินส์ ชุดที่ 3 ได้เสร็จสิ้นหลักสูตรการฝึกอบรมในฟาร์มเกษตรของไต้หวันแล้ว กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture, MOA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัดพิธีจบหลักสูตร และมีการชี้แจงผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่ผลักดันโดยหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณต่อฟาร์มเกษตรทั่วไต้หวันที่ให้ความร่วมมือ และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้ ขณะเดียวกัน เป็นการให้กำลังใจแก่เหล่านักศึกษาฝึกงานที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม หลังเดินทางกลับฟิลิปปินส์แล้วจะนำประสบการณ์และทักษะด้านการเกษตรที่ได้จากฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ในการสร้างธุรกิจของตนเอง อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรในมาตุภูมิ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายต่อไป
MOA แถลงว่า ไต้หวันได้ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงในโครงการเปิดรับเยาวชนเกษตรเข้าฝึกงานในไต้หวัน ร่วมกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา แต่เคยระงับไปช่วงหนึ่งเพราะผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 และได้กลับมาจัดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2564 ตราบจนปัจจุบัน มีชาวต่างชาติเดินทางมาฝึกงานในฟาร์มเกษตรทั่วไต้หวันแล้ว จำนวน 392 คน เพื่อร่วมเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรผ่าน “การลงมือปฏิบัติ” และเพื่อเป็นการบรรเทาความต้องการด้านกำลังแรงงานที่เหมาะสมของฟาร์มเกษตรในไต้หวัน
MOA ชี้แจงว่า ในจำนวนนักศึกษาฝึกงานชาวฟิลิปปินส์ 77 คนที่เคยเดินทางเยือนไต้หวัน ในจำนวนนี้ มี 19 รายที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อช่วยเหลือในการสร้างธุรกิจของตนเอง และมี 50 คนที่ยังคงมุ่งมั่นเข้าร่วมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าศึกษาต่อในคณะเกษตรศาสตร์ การจัดตั้งสถานีทดลองและสังเกตการณ์เชิงการเกษตร การสวมบทบาทเป็นผู้นำในชุมชน การเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมนักธุรกิจเยาวชนเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ จากรายงานผลการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า กว่าร้อยละ 90 ของเนื้อหาหลักสูตรการฝึกอบรมที่กำหนดโดยผู้ประกอบการฟาร์มเกษตร มีความสอดคล้องกับโครงการ อีกทั้งบรรดาผู้ประกอบการต่างแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมในโครงการฝึกอบรมเช่นนี้ต่อไป เนื่องจากมีส่วนช่วยในการบรรเทาความต้องการด้านแรงงาน แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้อย่างเด่นชัด
MOA ระบุว่า เยาวชนต่างชาตินอกจากจะได้เรียนรู้ทักษะการบริหารและเทคโนโลยีทันสมัยในฟาร์มเกษตรของไต้หวันแล้ว ยังเป็นการอัดฉีดพลังความสดใสและความรู้ความเชี่ยวชาญให้แก่ภาคการผลิตทางการเกษตรของไต้หวันอีกด้วย โดยในอนาคต ไต้หวันจะยังคงเสริมสร้างความร่วมมือทางการเกษตรกับกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ควบคู่ไปกับการมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระยะยาวในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร และการบ่มเพาะบุคลากร ผ่านการบูรณาการทางการศึกษาและการปฏิบัติจริง ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยพัฒนาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนมิตรภาพและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ระหว่างสองประเทศอีกด้วย