New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 12 ก.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจากบริษัท Micron Technology โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อบริษัท Micron Technology ที่เข้าลงทุนในไต้หวันมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิตหน่วยความจำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมศักยภาพ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหน่วยความจำ DRAM ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนให้ระบบห่วงโซ่อุปทานสอดรับกับการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นว่า ในไต้หวัน นอกจากรัฐบาลจะให้บริการด้วยประสิทธิภาพสูงเพื่อตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อความต้องการของผู้ประกอบการ ในการสรรสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรต่อบุคลากรชาวต่างชาติ จึงหวังว่า Micron Technology จะเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาในไต้หวัน ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหุ้นส่วนในระบบห่วงโซ่อุปทานของไต้หวัน เพื่อแสวงหาโอกาสธุรกิจ AI ร่วมกันต่อไป
ในช่วงแรก ปธน.ไล่ฯ ได้กล่าวต้อนรับการเดินทางมาเยือนของคณะตัวแทน ที่แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจและความสนับสนุนที่มีต่อไต้หวัน ในโลกแห่งอนาคต เราจะได้เห็นเซมิคอนดักเตอร์อยู่ในทุกหนแห่ง อีกทั้งกระแสเทคโนโลยี AI ก็โหมกระหน่ำจากทุกทิศทุกทาง ภายใต้แนวโน้มเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Micron ซึ่งเป็นบริษัทแนวหน้าของโลก จะมีบทบาทสำคัญที่ไม่สามารถขาดไปได้
ปธน.ไล่ฯ แสดงความขอบคุณต่อ Micron ที่มุ่งมั่นยกระดับเทคโนโลยีการผลิตหน่วยความจำ DRAM อย่างต่อเนื่อง เมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่โรงงานของ Micron แห่งที่ 4 ในนครไทจงได้เปิดเดินเครื่องแล้ว ถือเป็นการเปิดตัวการผลิต DRAM ในปริมาณมากด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมระบบห่วงโซ่อุปทานที่ใช้วัตถุดิบซึ่งผลิตในท้องถิ่น และด้วยความสนับสนุนจาก Micron ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน สามารถก้าวขึ้นครองบทบาทที่สำคัญในระดับโลก ในอนาคต รัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่อง และจะมุ่งสรรสร้างให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็น “อาณาจักรแห่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ต่อไป
ปธน.ไล่ฯ กล่าวอีกว่า ในไต้หวัน นอกจากรัฐบาลจะให้บริการด้วยประสิทธิภาพสูงเพื่อตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อความต้องการของภาคธุรกิจด้วย อันจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลเข้าตรวจสอบอุปสงค์ – อุปทานด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างหลักประกันในการจ่ายไฟที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ยังได้ผ่อนคลายข้อบังคับทางกฎหมาย ควบคู่ไปกับการผลักดันหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากรที่เปี่ยมด้วยความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงการดึงดูดบุคลากรนานาชาติ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจด้วย