New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 ก.ค. 67
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 16 กรกฏาคม 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Nery Abilio Ramos y Ramos ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐกัวเตมาลา โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อ Mr. Ramos ที่เลือกให้ไต้หวันเป็นจุดหมายปลายทางแรกในการเดินทางเยือนต่างประเทศ นับตั้งแต่ที่ Mr. Ramos เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐสภากัวเตมาลาที่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้ผ่านญัตติให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยปธน.ไล่ฯ หวังว่าไต้หวัน – กัวเตมาลา จะประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเชิงลึกในทุกด้าน เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีอันดีที่มีต่อกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า กัวเตมาลาเป็นประเทศพันธมิตรที่แข็งแกร่งของไต้หวัน พวกเรานอกจากจะยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นประเทศที่รักสันติภาพอีกด้วย นับตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้ทยอยจัดคณะตัวแทนเดินทางไปเยือนกัวเตมาลา เพื่อการจัดซื้อและตรวจการณ์ สมาชิกคณะประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ กาแฟ อาหารทะเลและเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อร่วมแสวงหาโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป บริษัทรถไฟความเร็วสูงไต้หวัน (THSR) จะจัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่เขตภูเขาของกัวเตมาลา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไต้หวันได้ทำความรู้จักกับกาแฟคุณภาพสูงของกัวเตมาลา
Mr. Ramos แถลงว่า กัวเตมาลารู้สึกชื่นชมประสบการณ์การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน ภาคประชาสังคมของกัวเตมาลาได้รับอานิสงค์จากไต้หวัน ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข เทคโนโลยี เศรษฐกิจและการค้า อีกทั้งไต้หวันยังได้เสนอกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจแก่กัวเตมาลา ควบคู่ไปกับการช่วยส่งเสริมการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของกัวเตมาลา เชื่อว่าจากการเดินทางเยือนในครั้งนี้ คณะตัวแทนจะมีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมไต้หวัน และมิตรภาพระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงไมตรีจิตและการต้อนรับอันแสนอบอุ่นจากประชาชนชาวไต้หวัน ตลอดจนร่วมเป็นสักขีพยานในการพัฒนาและการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจของไต้หวันไปด้วยในตัว
Mr. Ramos เน้นย้ำว่า กัวเตมาลาให้ความสำคัญด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคประชาชนของไต้หวัน ในประเด็นการศึกษา ไต้หวันได้ส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่กัวเตมาลาด้วยความเต็มใจ ซึ่งการศึกษาเป็นหนึ่งในโครงการขั้นพื้นฐานและจัดให้เป็นภารกิจอันดับต้นๆ ของความร่วมมือแบบทวิภาคี ในด้านการแพทย์ ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่พร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือในยามที่กัวเตมาลาประสบกับความยากลำบาก โดยรัฐบาลกัวเตมาลารู้สึกชื่นชมการพัฒนาและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการแพทย์ของไต้หวันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้รัฐสภากัวเตมาลาได้ผ่านมติ ให้การยอมรับความพยายามของไต้หวันที่มุ่งพัฒนาการแพทย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนชาวไต้หวันแล้ว ยังเผื่อแผ่อานิสงส์มาสู่แวดวงการแพทย์ระดับสากลอีกด้วย
Mr. Ramos ระบุว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมา รัฐสภากัวเตมาลาได้ยื่นส่งหนังสือเรียกร้องต่อสำนักเลขาธิการ “องค์การอนามัยโลก” (WHO) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ครั้งที่ 77 รวมไปถึงทุกการประชุม กลไกและกิจกรรมภายใต้องค์การ WHO ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันมีส่วนร่วมสร้างคุณประโยชน์ในด้านสุขภาพ ให้แก่มวลมนุษยชาติในประชาคมโลกต่อไป
Mr. Ramos ระบุว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไต้หวันให้การสนับสนุนกัวเตมาลาในการก่อสร้างถนนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของประเทศชาติ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างระบบทางหลวงและท่าเรืออย่างมีกลยุทธ์ ซึ่งสร้างคุณประโยชน์ที่สำคัญมากมายในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในทุกแขนงสาขา ส่วนด้านการพัฒนาทางการเกษตร ไต้หวันให้การสนับสนุนกัวเตมาลาในการเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยีการเกษตรมาเป็นเวลานาน เพื่อให้ความช่วยเหลือเหล่าเกษตรกร ในการยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์กาแฟ มะละกอและต้นไผ่
นอกจากนี้ ในช่วงค่ำของวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อต้อนรับ Mr. Ramos และคณะตัวแทน พร้อมทั้งเชิญ Mr. Oscar Adolfo Padilla Lam เอกอัครราชทูตกัวเตมาลาประจำไต้หวัน นายต่งเจี้ยนหง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายลวี่เจี้ยนเต๋อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายหลินจาวหยาง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ChungHwa Telecom และนายลวี่เหย้าจื้อ ประธานบริหาร Taiwan Thinktank และตัวแทนภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาควิชาการ เข้าร่วมงานเลี้ยงในครั้งนี้ด้วย โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในด้านเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี รวมไปถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และความร่วมมือทางภาคอุตสาหกรรม