New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดีและคกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 17 ก.ค. 67
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 รองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาฝ่ายกิจการชนพื้นเมืองของแคนาดา” โดยรองปธน.เซียวฯ กล่าวว่า ไต้หวันทะนุถนอมความสัมพันธ์อันดีกับแคนาดา โดยเฉพาะองค์ประกอบทางวัฒนธรรมชนพื้นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในภาคประชาสังคมของทั้งสองประเทศ และได้สำแดงออกมาให้เห็นผ่านความสัมพันธ์แบบทวิภาคี โดยรองปธน.เซียวฯ คาดหวังว่า นอกจากทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนกันด้านวัฒนธรรมชนพื้นเมืองแล้ว ยังสามารถเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ได้รับการพัฒนาอย่างเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา Mr. Brian Francis ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการชนพื้นเมืองแห่งวุฒิสภาแคนาดา ได้นำคณะตัวแทนสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รวม 8 คน เดินทางไปเยี่ยมคารวะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Commission, NHRC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเสวนากันในประเด็นสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา ควบคู่ไปกับการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในอดีต ที่กลุ่มชนพื้นเมืองทั้งสองประเทศเคยประสบกับการใช้ความรุนแรงจากรัฐบาล จนเกิดเป็นบาดแผลฝังลึกในใจ รวมไปถึงกระบวนการฟื้นฟูสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง
คณะตัวแทนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างทยอยแสดงทรรศนะ โดยระบุว่า ชนเผ่าพื้นเมืองของแคนาดา – ไต้หวัน ต่างประสบกับการใช้ความรุนแรงจากน้ำมือของรัฐบาล ทั้งการยึดครองพื้นที่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการดูหมิ่นเหยียดหยาม อีกทั้งในระหว่างเส้นทางการต่อสู้เพื่อแสวงหาสิทธิความเท่าเทียม สิทธิการปกครองตนเอง การได้รับความเห็นชอบ อำนาจอธิปไตยของชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงดินแดน โอกาสทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูวัฒนธรรม การได้พื้นที่คืนและการได้รับการยอมรับจากภาครัฐ ต่างต้องเผชิญกับอุปสรรคความท้าทายนานัปการ อย่างไรก็ตาม เส้นทางในอนาคตยังอีกยาวไกล จึงหวังที่จะร่วมแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือกับไต้หวันอย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง ให้เกิดความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ในช่วงท้าย นางสาวเฉินจวี๋ ประธาน NHRC ได้แสดงความขอบคุณรัฐสภาแคนาดา ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ อย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นต้น พร้อมกล่าวว่าไต้หวัน - แคนาดา ต่างก็เป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตย จึงหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อร่วมธำรงรักษาค่านิยมด้านเสรีภาพให้คงอยู่ต่อไป