New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 30 ก.ค. 67
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในที่ประชุมของกลุ่มพันธมิตรจีนแห่งรัฐสภาข้ามชาติ (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ภายใต้หัวข้อ “วิสัยทัศน์โลกของไต้หวัน” โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อคณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรคที่เข้าร่วมการประชุมประจำปี จำนวนมากสุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการสนับสนุนที่นานาประเทศมีต่อไต้หวัน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นประเทศแนวหน้าด้านประชาธิปไตย มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประชาธิปไตย และมีแนวคิดในการร่วมธำรงรักษาสันติภาพในภูมิภาคเคียงคู่ไปพร้อมกับประชาคมโลก โดยจะประสานความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยในการสร้างเสริม “เกราะป้องกันด้านประชาธิปไตย” (Democratic Umbrella) เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ได้รับการคุกคามจากการแผ่ขยายอิทธิพลของกลุ่มประเทศเผด็จการ ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือในการส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ให้คงอยู่ยั่งยืนต่อไป
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันจะปฏิบัติภารกิจด้วยการยึดมั่นตาม “แผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพใน 4 มิติ” ประกอบด้วย การเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหม การจัดตั้งกลไกความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย และการจัดตั้งศักยภาพผู้นำด้านความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่เป็นไปอย่างมีหลักการและเปี่ยมเสถียรภาพ ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีความสามัคคี ไต้หวันยินดีที่จะสร้างคุณประโยชน์แก่ประชาคมโลกให้มากยิ่งขึ้น
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น รองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้เข้าร่วม “งานแถลงข่าวสำหรับสื่อมวลชนนานาชาติ” พร้อมทั้งขอบคุณ IPAC ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมายเสมอมา พร้อมนี้ รองปธน.เซียวฯ ยังเน้นย้ำว่า ไต้หวันจะมุ่งมั่นประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคมทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความทรหดในการรวมตัวของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ในด้านต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ ระบบห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง การรู้เท่าทันสื่อ การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารจัดการภัยพิบัติ รวมไปถึงด้านกลาโหมและความปลอดภัยของมวลมนุษยชาติ เป็นต้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมอุทิศคุณประโยชน์ด้านสวัสดิการของสาธารณชนให้แก่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายหลี่เวิ่น โฆษกทำเนียบประธานาธิบดียังได้แสดงความขอบคุณต่อ IPAC และหุ้นส่วนที่ให้การสนับสนุนเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสันติภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย และการสนับสนุนไต้หวันด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังแสดงความขอบคุณต่อกรณีที่ IPAC มีมติรับรองญัตติว่าด้วยการแสดงจุดยืนคัดค้านการบิดเบือนและตีความญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อต้องการจำกัดพื้นที่ในเวทีนานาชาติของไต้หวัน
ในวันเดียวกันนี้ IPAC ยังมีมติรับรอง “แม่แบบญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติฉบับที่ 2758 ” (Model Resolution on 2758) โดยระบุว่า IPAC รู้สึกเสียใจที่รัฐบาลจีนบิดเบือนญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 และสร้างความเชื่อมโยงที่ไม่เหมาะสมกับ “หลักการจีนเดียว” โดย แม่แบบญัตติฯ ของ IPAC ระบุว่า ในอนาคตจะมุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบของสหประชาชาติอย่างมีความหมายต่อไป และจะมุ่งผลักดันแม่แบบญัตติฯ ข้างต้นในที่ประชุมรัฐสภาของนานาประเทศ ต่อไป
นายหลี่เวิ่น ยังกล่าวแสดงความขอบคุณ IPAC ที่จัดการเสวนาประเด็นไต้หวัน เพื่อร่วมอภิปรายในรูปแบบการรายงานประเด็นพิเศษ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 และความสำคัญของเสถียรภาพสองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโลก โดยประเด็นที่ 2 ได้ขานรับกับ “แผนปฏิบัติการ MIST” ที่ IPAC เปิดตัวขึ้นในปีนี้ จึงขอเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกร่วมวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ไต้หวันเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในความเจริญรุ่งเรืองระดับสากล
ในปีนี้ไต้หวันได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก IPAC อย่างเป็นทางการ เมื่อเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ พรรคการเมืองต่างๆ ภายในประเทศควรประสานความร่วมมือกันโดยไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย พร้อมตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงของประเทศชาติก่อนผลประโยชน์ทางการเมือง ควบคู่ไปกับการผนึกกำลังร่วมกับมิตรสหายนานาชาติ ตลอดจนเข้าร่วมแพลตฟอร์มแบบข้ามพรมแดนที่สำคัญ อาทิ “การทูตรัฐสภา”
การประชุมประจำปีของกลุ่มพันธมิตรจีนแห่งรัฐสภาข้ามชาติ (IPAC) จัดขึ้น ณ กรุงไทเป เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 โดยมีสมาชิกสภาและนักการเมือง จำนวน 49 คน จาก 23 ประเทศและรัฐสภายุโรป เดินทางมาเข้าร่วม ถือเป็นคณะตัวแทน IPAC กลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุม IPAC ยังได้ประกาศอย่างเป็นทางการในงานแถลงข่าวว่า ในปีนี้ได้อนุมัติให้ 7 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก ประกอบด้วย ไต้หวัน โคลอมเบีย อิรัก มาลาวี หมู่เกาะโซโลมอน แกมเบียและอุรุกวัย กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอขอบคุณ IPAC ด้วยใจจริง สำหรับจุดยืนที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นเสมอมา