New Southbound Policy Portal

กระทรวงเกษตรไต้หวันและศูนย์พืชผักโลก ร่วมลงนาม MOU เพื่อมุ่งยกระดับศักยภาพการวิจัยและพัฒนาพืชผักไต้หวันให้สามารถเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติได้

กระทรวงการเกษตร วันที่ 31 ก.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture , MOA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ “ศูนย์พืชผักโลก” (World Vegetable Center) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพืชผัก โดยมีนายเฉินจวิ้นจี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร Dr. Marco Wopereis ผู้อำนวยการศูนย์พืชผักโลก และฟาร์มสาธิตทดลองเพาะปลูกพืชผักเมล็ดพันธุ์ของไต้หวัน รวม 10 แห่ง ต่างเข้าร่วมในพิธีลงนาม โดยในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงการพัฒนาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม บนพื้นฐานทางความร่วมมือระหว่างกันตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการมุ่งจัดตั้งอุตสาหกรรมพืชผักที่มีความทรหดและทนทานต่อสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการให้แก่กลุ่มผู้บริโภคระดับโลก

MOA แถลงว่า ศูนย์พืชผักโลกเป็นหน่วยงานการเกษตรระหว่างประเทศที่จัดตั้งสำนักงานใหญ่ขึ้นในไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ขจัดปัญหาความยากจนและภาวะทุพโภชนาการในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ ศูนย์พืชผักโลกยังมีคลังเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชผักของภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวบรวมไว้ซึ่งเมล็ดพันธุ์ 330 ชนิด กว่า 60,000 สายพันธุ์ จาก 155 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันวิชาการและการวิจัยของไต้หวัน ตราบจนปัจจุบัน ได้นำเสนอเมล็ดพันธุ์พืชผักที่ทนต่อความร้อนและต้านทานโรคแล้วกว่า 42 ชนิด ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์พืชผักโลกยังได้จัดหาเมล็ดพันธุ์กว่า 4,200 สายพันธุ์ ให้แก่ผู้ประกอบการคัดเลือกและนำไปเพาะเมล็ดสายพันธุ์ใหม่
 
MOA แถลงว่า ศูนย์พืชผักโลกยังมุ่งมั่นบ่มเพาะบุคลากร อันเป็นการสร้างโอกาสการเรียนรู้ที่หลากหลายให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาด้านการเกษตรของไต้หวันและนานาประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา MOA ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญโรคพืชวิทยาและพืชผัก จำนวน 38 คน เดินทางมาเข้ารับการฝึกอบรม ณ ศูนย์แห่งนี้
 
MOA แถลงว่า จากการร่วมลงนาม MOU ในครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้สถานีทดลองการเกษตร สถานีทดลองการใช้สารเคมีทางการเกษตร ฟาร์มสาธิตทดลองเพาะปลูกพืชผักเมล็ดพันธุ์ 7 แห่ง และสถานีเพาะชำกล้าไม้ มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับศูนย์พืชผักโลกในเชิงลึกยิ่งขึ้น และจะประยุกต์ใช้เครือข่ายการวิจัยระหว่างประเทศ และอาคารทดลองแห่งใหม่ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรด้านการวิจัยของไต้หวันและทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อยกระดับศักยภาพการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืชผักและอุตสาหกรรมการเพาะกล้า
 
ศูนย์พืชผักโลกชี้แจงว่า หลายปีมานี้ ศูนย์พืชผักโลกได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวันในการขยายพันธุ์พืชเพิ่มขึ้นกว่า 1,300 สายพันธุ์ โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์บางส่วนไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเพาะเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ ส่วนเมล็ดพันธุ์บางส่วนก็ได้ทยอยส่งกลับสู่แหล่งผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อยอดเมล็ดพันธุ์ให้เจริญเติบโตขึ้นในแหล่งตั้งต้นอย่างงดงามต่อไป
 
ศูนย์พืชผักโลกแถลงว่า นอกจากทางศูนย์ฯ จะมุ่งผลักดันกลไกการป้องกันโรคพืชที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังได้มีการจัดตั้งทีมวิจัยโรคพืชวิทยาแบบข้ามพรมแดน โดยมุ่งเน้นไปที่การตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสในมะเขือเทศของไต้หวัน - ไทย ด้วยการประยุกต์ใช้กลยุทธ์และมาตรการต่างๆ ในการช่วยตรวจคัดกรองให้แก่เกษตรของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาแนวทางการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการผลิตผลมะเขือเทศอย่างยั่งยืน
 
ในช่วงท้าย MOA แถลงว่า ในอนาคต จะประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบของหน่วยงาน และคุณสมบัติที่แตกต่างแต่สามารถผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว รวมไปถึงจิตวิญญาณการทำงานร่วมกันในมุมมองต่างๆ อาทิ การลดคาร์บอนอย่างยั่งยืน ประสิทธิภาพรูปแบบอัจฉริยะ และความปลอดภัยทางสุขภาพ เป็นต้น เพื่อสานสัมพันธ์ทางความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเกิดความสนใจร่วมกัน ตลอดจนช่วยสรรค์สร้างระบบการผลิตผืชผักที่มีความทรหดให้แก่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันทางสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการให้แก่กลุ่มผู้บริโภคระดับโลก