New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันชี้แจงต่อกรณีที่จีนและติมอร์-เลสเต ร่วมประกาศแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อันเป็นการบั่นทอนอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 – 31 ก.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา H.E. José Ramos-Horta ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ได้เข้าพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังเสร็จสิ้นการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศ “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน - สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต” โดยเนื้อความมีการบิดเบือนและตีความญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง และสร้างความเชื่อมโยงที่ไม่เหมาะสมกับ “หลักการจีนเดียว” โดยกล่าวอ้างว่า “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้” และ “พร้อมให้การสนับสนุนความพยายามในการควบรวมดินแดนเป็นหนึ่งเดียวของรัฐบาลจีน” กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอประณามและต่อต้านคำกล่าวอ้างที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง
 
กต.ไต้หวันแสดงจุดยืนว่า ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ระบุเพียงสิทธิ์ของการเป็นตัวแทนประเทศจีนในสหประชาชาติ แต่ไม่มีการระบุถึงไต้หวันเลยแม้แต่น้อย และไม่ได้ระบุว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธาณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งไม่เคยให้สิทธิ์แก่รัฐบาลจีนในการเป็นตัวแทนของไต้หวันในสหประชาชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงจะเห็นได้ว่า ญัตติฉบับข้างต้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไต้หวันเลย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง และมิได้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน การกล่าวอ้างที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองได้
 
กต.ไต้หวันขอเรียกร้องให้รัฐบาลติมอร์-เลสเต อย่าคล้อยตามจีนในการร่วมบั่นทอนอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งอาจตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ พร้อมนี้ ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านการบิดเบือนข้อเท็จจริงของญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีน ที่ต้องการจะสร้างรากฐานทางนิติบัญญัติเพื่อเอื้อต่อการรุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหารในอนาคต ตลอดจนเพื่อเป็นธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา Mr. Enrique A. Manalo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ และ Mr. Gilbert Teodoro Jr. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ ได้ร่วมจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหม แบบ 2+2 ร่วมกับ Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และ Mr. Lloyd Austin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขึ้น ณ กรุงมะนิลา และได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม โดยมีเนื้อความที่ระบุถึงการแสดงจุดยืนว่าด้วยความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก นับเป็นอีกครั้งที่ได้มีการระบุถึงเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้วที่ได้มีการกำหนดเนื้อความให้ความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันในแถลงการณ์ร่วมแบบ 2+2 ระหว่างฟิลิปปินส์ - สหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นช่องแคบไต้หวันของฟิลิปปินส์ - สหรัฐฯ กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีและขอแสดงความชื่นชมด้วยใจจริง
 
กต.ไต้หวันยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟิลิปปินส์ที่แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันอย่างเปิดเผยอยู่บ่อยครั้ง H.E. Ferdinand Romualdez Marcos Jr. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุมเสวนาด้านความมั่นคง Shangri-La Dialogue ที่เปิดฉากขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 โดยระบุว่า สันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพ มีส่วนเกี่ยวพันกับนานาประเทศทั่วโลก โดยสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอันดับแรก กต.ไต้หวันจึงขอเชิญชวนให้ประชาคมโลกเฝ้าจับตาต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและหลักนิติธรรมของไต้หวัน เพื่อปกป้องความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ตลอดจนเพื่อธำรงรักษาเสรีภาพและการเปิดกว้างของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป