New Southbound Policy Portal

การประชุมหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ด้านการลงทุน ไต้หวัน – อาเซียน – อินเดีย ประจำปี พ.ศ. 2567 เชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนด้านการลงทุน สร้างความยืดหยุ่นในการวางรากฐานธุรกิจที่หลากหลาย

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 6 ส.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัด “การประชุมหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ด้านการลงทุน ไต้หวัน – อาเซียน – อินเดีย ประจำปี พ.ศ. 2567” โดยได้เชิญผู้แทนของหน่วยงานด้านการลงทุนจาก 6 ประเทศเดินทางมาเข้าร่วม ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม พร้อมนี้ ยังเชิญเจ้าหน้าที่บริษัท Boston Consulting Group เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อพิเศษ ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมได้เป็นจำนวนกว่า 300 คน ส่งผลให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคักเป็นอย่างมาก
 
นายเฉินเจิ้งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ จีนถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับสากล แต่ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานโลกขึ้นใหม่ ทำให้ฐานการผลิตค่อยๆ เคลื่อนย้ายไปสู่กลุ่มประเทศอาเซียนและอินเดีย โดยสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ ในปี พ.ศ. 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.8 และอินเดียจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เห็นได้ชัดว่า ประเทศเอเชียอาคเนย์และอินเดีย ได้กลายเป็นไฮไลท์สำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับโลกแล้ว โดยในระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ผู้ประกอบการไต้หวันถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากมองในแง่การลงทุน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทำให้การลงทุนในกลุ่มประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของผู้ประกอบการไต้หวัน มีความคึกคักเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยมูลค่าการลงทุนของไต้หวันในกลุ่มประเทศมุ่งใต้ใหม่เฉพาะในปี พ.ศ. 2566 คิดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนในต่างประเทศของไต้หวันมากกว่าร้อยละ 20 ด้วย
 
รมช.เฉินฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเศรษฐการให้ความสำคัญกับการลงทุนของผู้ประกอบการไต้หวันในกลุ่มประเทศมุ่งใต้ใหม่มาเป็นเวลานาน หากพิจารณาถึงประเภทอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ทยอยเข้าลงทุนในเวียดนามกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดเป็น Cluster ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามแล้ว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการแผงวงจรไฟฟ้าระดับแนวหน้าใน 10 อันดับแรกของไต้หวัน ยังได้ทยอยวางรากฐานธุรกิจสู่ไทยและเวียดนาม นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็จะเจริญรอยตามในการเข้าลงทุนยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน
 
ปัจจุบัน ไต้หวันได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยหลักประกันด้านการลงทุนฉบับใหม่กับฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนามและไทยแล้ว พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปรับปรุงความตกลงว่าด้วยหลักประกันด้านการลงทุนที่มีอยู่เดิมกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อเป็นการส่งเสริมความยืดหยุ่นของผู้ประกอบการไต้หวัน ในการวางรากฐานไปสู่ต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปกป้องสิทธิด้านการลงทุนของผู้ประกอบการไต้หวัน ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการลงทุนกับนานาประเทศ
 
ในส่วนของการบรรยาย Mr. Kevin Wu หุ้นส่วนของบริษัท BCG ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถานการณ์การพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ได้กล่าวระหว่างการประชุมว่า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของแผนแม่บททางการค้าระหว่างประเทศในอนาคต กลุ่มประเทศอาเซียนและอินเดีย จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของการค้าโลก ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ของโลกได้ลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์แล้วกว่า 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยขอบเขตการลงทุน ประกอบด้วย การเพิ่มกำลังการผลิต การเข้าสู่ตลาด / การควบรวมตลาด การเปิดตัวสินค้าใหม่และบริการรูปแบบใหม่ เป็นต้น พร้อมคาดการณ์ว่า อีก 10 ปีหลังจากนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนและอินเดีย จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก จึงชี้แนะให้ผู้ประกอบการไต้หวันใช้ข้อได้เปรียบของกลุ่มประเทศเป้าหมาย จัดตั้งรูปแบบความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่กัน และคำนึงถึงข้อได้เปรียบทางความแตกต่างในระบบห่วงโซ่คุณค่าของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการจัดตั้งแผนปฏิบัติการในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
 
เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการเข้าลงทุนและแสวงหาโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจ หน่วยงานด้านการลงทุนจากนานาประเทศที่เข้าร่วมต่างทยอยนำเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักของประเทศตน และนำเสนอข้อได้เปรียบในการวางรากฐานอุตสาหกรรม และทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ด้วย
 
ระหว่างการประชุม นายวรกาญจน์ โกศลพิศิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้บรรยายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ที่รัฐบาลไทยมุ่งผลักดันตลอดระยะที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการไต้หวันเข้าลงทุนในประเทศไทย โดย BOI ได้จัดสรรกลไกความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องไว้อย่างครอบคลุม อาทิ การเดินทางไปสำรวจนิคมอุตสาหกรรม การอำนวยความสะดวกในเรื่องการยื่นขออนุมัติ และการแก้ปัญหาบุคลากร เป็นต้น พร้อมทั้งแนะนำผู้ประกอบการไต้หวันลงทุนตั้งโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจในกฎระเบียบทางกฎหมายและขั้นตอนการขออนุมัติด้านการลงทุน ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการเข้าลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการต่อไป
เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผกผัน กรมส่งเสริมการลงทุนจะมุ่งบูรณาการทรัพยากร เช่น “ช่องบริการการลงทุนไต้หวัน” (Taiwan Desk) และหน่วยงานไต้หวันที่ประจำการในต่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการวางรากฐานการลงทุนในต่างประเทศ เช่น การจัดตั้งกลไกการให้คำปรึกษาและการเป็นสื่อกลางที่ช่วยเชื่อมโยงทรัพยากร การจัดการประชุมรูปแบบไฮบริด ทั้งการประชุมในสถานที่จริงและรูปแบบออนไลน์ รวมถึงการจัดคณะตัวแทนเดินทางไปสำรวจพื้นที่เพื่อการลงทุน เป็นต้น