New Southbound Policy Portal

“ระบบวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วด้วยเทคโนโลยี AI” ของบริษัทการประปาไต้หวัน คว้ารางวัลนวัตกรรมใหม่จากสมาคมน้ำระหว่างประเทศ (IWA) ประจำปี พ.ศ. 2567

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 14 ส.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตามเวลาในไต้หวัน บริษัทการประปาไต้หวัน ได้รับรางวัลในโครงการนวัตกรรม (Project Innovation Awards, PIA) ในนิทรรศการและการประชุมประปาโลก (World Water Congress & Exhibition, WWCE) ที่จัดขึ้นโดยสมาคมน้ำระหว่างประเทศ (International Water Association, IWA) ณ เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา โดยรางวัลประเภทนี้จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูบริษัทการประปาของประเทศต่างๆ ที่มุ่งอุทิศคุณประโยชน์ในด้านการบริหารทรัพยากรน้ำและเทคโนโลยีนวัตกรรม โดยนายหลี่เจียหรง ประธานบริษัทการประปาไต้หวัน ได้นำทีมวิจัยและพัฒนาเดินทางไปรับรางวัลที่เมืองโทรอนโตด้วยตนเอง
 
หัวข้อหลักของการเข้าร่วมประกวดของบริษัทประปาไต้หวันในครั้งนี้คือ “ระบบวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วด้วยเทคโนโลยี AI : การวิจัยกรณีตัวอย่างของบริษัทประปาไต้หวัน” ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนากับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) ภายใต้การชี้แนะของกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยเทคโนโลยีนวัตกรรมข้างต้น มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการรับมือกับความท้าทายด้านการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไต้หวัน อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์ในการมุ่งแก้ไขเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่การประปาที่เฝ้าตรวจจับรอยรั่ว เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งได้มีการอัดฉีดงบประมาณในการวิจัยกว่า 1.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประยุกต์ใช้และบูรณาการกระบวนการอัลกอริทึมแบบควบคุมด้วยเสียงที่ทันสมัย และเทคโนโลยีการเรียนรู้ในเชิงลึก รวมไปถึงเทคโนโลยีเพื่อสรรพสิ่งและเทคโนโลยีการประมวลผลบนระบบคลาวด์ ซึ่งในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2563 – 2566 ได้ทำการรวบรวมสัญญาณตรวจจับรูปพรรณรอยรั่วกว่า 300,000 จุดในท่อระบายน้ำใต้ดินในความยาว 84.5 กิโลเมตร ซึ่งประสบความสำเร็จในการตรวจจับตำแหน่งท่อประปารั่วที่มีความแม่นยำร้อยละ 80 ขึ้นไป ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ของไต้หวันมีความโดดเด่นจากผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 108 รายการจาก 34 ประเทศทั่วโลก
 
“ระบบวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วด้วยเทคโนโลยี AI” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลสถิติเสียงน้ำรั่วด้วยวิธีการแบบไร้สาย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจจับสัญญาณเสียงและส่งสัญญาณคลื่นความถี่ โดยระบบได้บูรณาการกลไกการเรียนรู้ขั้นสูง และเทคโนโลยีเวกเตอร์แมชชีน (Support Vector Machines, SVM) พร้อมทั้งทำการวิเคราะห์และระบุพิกัดตำแหน่ง ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อบรรลุการตรวจหารอยรั่วในรูปแบบอัตโนมัติ ซึ่งเทคโนโลยีข้างต้นนอกจากจะยกระดับประสิทธิภาพการตรวจสอบแล้ว ยังสามารถระบุพื้นที่ความเสี่ยงสูงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซ่อมแซมได้อีกด้วย