New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันอำนวยความสะดวกให้กรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วม “การประชุมเสวนาซิดนีย์”

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 2 ก.ย. 67
 
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 นายหลี่อวี้เจี๋ย กรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ นำคณะตัวแทนเข้าร่วม “การประชุมเสวนาซิดนีย์” (The Sydney Dialogue) ที่จัดขึ้นโดย “สถาบันวิจัยนโยบายทางยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย” (ASPI) โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมประจำปีที่รัฐบาลออสเตรเลียจัดขึ้นเพื่อร่วมหารือในประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์และเทคโนโลยีเกิดใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการจาก 30 ประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ อังกฤษ ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ปาปัวนิวกินี ตองงาและไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในประเด็นการพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI การสกัดกั้นภัยคุกคามลูกผสม ความเชื่อมโยงเชิงดิจิทัลทางทะเลและอากาศในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก โครงสร้างพื้นฐานเชิงดิจิทัล รวมไปถึงการสรรสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น การพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมเชิงดิจิทัล การเตรียมความพร้อมทางกลาโหมของรัฐบาลในยุคดิจิทัล ข่าวปลอมและประชาธิปไตย เป็นต้น
 
ที่ปรึกษาหลี่ฯ ได้ร่วมพูดคุยกับ Mr. Brendan Dowling อุปทูตด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ภายใต้กระทรวงการค้าระหว่างประเทศของออสเตรเลีย ในระหว่างหัวข้อการประชุม “เทคโนโลยีที่ออกแบบเพื่อประชาธิปไตย” โดยที่ปรึกษาหลี่ฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรม AI ที่ไม่สามารถขาดไปได้ ควบคู่กับการแบ่งปันแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับความยืดหยุ่นทางดิจิทัล เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามแบบลูกผสมในรูปแบบใหม่ เพื่อปกป้องค่านิยมทางประชาธิปไตย
 
ที่ปรึกษาหลี่ฯ ชี้ว่า นิตยสาร The Economist เห็นว่าไต้หวันเป็น “สถานที่ที่อันตรายที่สุดในโลก” แต่การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้ความทรหดทางประชาธิปไตยของไต้หวันมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยในการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้งาน ไต้หวันจะให้ความสำคัญกับคุณค่าด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก แม้แต่ในช่วงที่ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไต้หวัน ซึ่งมีการใช้แอปพลิเคชันสำหรับรักษาระยะห่างทางสังคม ก็ยังสามารถรักษาไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวของประชาชน นอกจากนี้ การพัฒนาด้าน AI ของโลก ก็ไม่สามารถขาดไต้หวันไปได้ ไม่เพียงแต่ในคำว่า TAIWAN มีคำว่า AI อยู่ แต่ในระบบห่วงโซ่อุปทานของ AI ไม่สามารถขาดผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง TSMC ได้ รวมถึง Quanta Computer ที่เป็นผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์รายสำคัญของโลก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไต้หวันเป็นห่วงโซ่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานด้าน AI ของโลก
 
ที่ปรึกษาหลี่ฯ ย้ำว่า ทุกประเทศจำเป็นต้องจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน AI ของตนเอง เมื่อต้องเผชิญกับ ChatGPT ที่ใช้อักษรจีนตัวย่อ และ “ERNIE Bot” แชตบอตสัญชาติจีน ที่ผลักดันโดยบริษัท Baidu หากชาวไต้หวันใช้เทคโนโลยี AI ที่มาจากจีน จีนก็จะสามารถจับทิศทางความคิดของชาวไต้หวันได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการอัลกอริทึ่มเพื่อชี้นำกลุ่มเป้าหมาย อันจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางความมั่นคงระดับชาติ ไต้หวันในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตย แผนโซลูชันการแก้ไขปัญหาของเรา คือการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ และพัฒนาจนเกิดเป็น “ระบบสนทนา Generative AI ที่สามารถเชื่อถือได้” (TAIDE) ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจที่มีเหนือ AI
 
Mr. Dowling ให้การยอมรับต่อประชาธิปไตยของไต้หวัน พร้อมกล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ แต่ไต้หวันยังคงยึดมั่นในหลักการที่ว่า “ความมั่นคงทางไซเบอร์ คือความมั่นคงของชาติ” จึงขอแสดงความชื่นชมว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่ดีของออสเตรเลียในประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์