New Southbound Policy Portal
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 11 ก.ย. 67
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 กระทรวงเศรษฐการ (Ministry of Economic Affairs, MOEA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รายงานผลการประกาศรางวัล R&D 100 Awards ปี 2567 ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นรางวัลออสการ์ในวงการวิจัยและพัฒนา โดยในครั้งนี้ ไต้หวันสามารถคว้ารางวัลด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี มาครองรวม 15 รายการ ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยรายชื่อของหน่วยงานที่ได้รับรางวัล มีดังนี้ : สถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) คว้า 8 รางวัล สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ (III) คว้า 3 รางวัล สถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน (TTRI) คว้า 3 รางวัล ส่วนศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโลหะ (MIRDC) คว้า 1 รางวัล โดยในจำนวนนี้ มีรางวัล 13 รายการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก MOEA ซึ่งรายชื่อเทคโนโลยีที่ได้รับรางวัล มีจุดที่คล้ายคลึงกันคือต่างขานรับต่อกระแสโลก อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และระบบนิเวศ AI ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมาย ด้วยจำนวนรางวัลที่ได้รับ ส่งผลให้ ITRI ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 3 ของโลก เทียบเท่ากับห้องปฏิบัติการทดลอง Los Alamos National Laboratory แห่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี AI และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่มีผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของไต้หวัน ที่ก้าวล้ำนำหน้าประชาคมโลก
นายกัวจื้อฮุย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก MOEA ประสบความสำเร็จในการคว้ารางวัล R&D 100 Awards มาครองติดต่อกันเป็นเวลา 17 ปี ซึ่งตราบจนปัจจุบัน ยอดรางวัลสะสมมีจำนวนกว่า 97 รายการ โดย 9 รายชื่อเทคโนโลยีที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ได้เชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้ประกอบการเป็นที่เรียบร้อย เพื่อขับเคลื่อนคุณค่าทางอุตสาหกรรม ซึ่งจากรายชื่อที่ได้รับรางวัล สามารถมองเห็นถึงทิศทางกระแสเทคโนโลยีโลก อาทิ แผ่นชิป AI รูปแบบ 3 มิติที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่าง ITRI และบริษัท Powerchip Semiconductor Manufacturing Corporation (PSMC) สามารถลดกำลังการสูญเสียไฟฟ้าได้กว่าร้อยละ 90 ความเร็วในการประมวลผลข้อมูลยกระดับเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว นอกจากนี้ เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนและเทคโนโลยีการนำกลับมาประยุกต์ใช้ที่วิจัยและพัฒนาโดย ITRI ได้มีการประสานความร่วมมือกับ CHIMEI และได้มีการทดลองในสถานที่จริง ทุกปีจะสามารถลดปริมาณคาร์บอนได้กว่า 178,500 ตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ขานรับต่อกระแสหลักทางการพัฒนาระดับโลก โดยในจำนวนนี้ เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้ AI มีผลสัมฤทธิ์ที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งครองสัดส่วน 6 จาก 14 รายการ นับตั้งแต่การดูแลทางการแพทย์ไปสู่การป้องกันความมั่นคงด้านการคมนาคม การบริหารจัดการพลังงาน กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการตรวจสอบจุดบกพร่อง เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยี AI ได้มุ่งขยายกิ่งก้านสาขาสู่อุตสาหกรรมทุกแขนง พร้อมทั้งสวมบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างที่ขาดเสียมิได้
รางวัลเกียรติยศที่ไต้หวันได้รับในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางนวัตกรรมเทคโนโลยีของไต้หวันแล้ว ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีระดับโลก โดยในอนาคต MOEA จะให้การสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผลสัมฤทธิ์ทางเทคโนโลยี พัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้จริง ผ่านการประสานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างแนบแน่น ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรมและศักยภาพทางการแข่งขันระดับนานาชาติ ควบคู่ไปพร้อมกัน