New Southbound Policy Portal
กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 23 ก.ย. 67
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก มูลค่าการค้าของกลุ่มประเทศสมาชิก 21 ประเทศ ครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ถือว่ามีอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศโดยรอบในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกและทั่วโลก โดยในปีนี้ โครงการฝึกอบรมศักยภาพการรับมือกับเหตุฉุกเฉินจากสารเคมี (Capacity Building for Chemical Emergency Preparedness) ที่ยื่นเสนอโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวัน (Ministry of Environment, MOENV) ภายใต้การเสวนาทางอุตสาหกรรมเคมี (Chemical Dialogue, CD) ของกรอบ APEC ได้รับเสียงสนับสนุนจากเหล่าประเทศสมาชิกทั้งหมดของ APEC CD ที่เข้าร่วม มีการจัดการฝึกอบรมขึ้น ณ ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดจากสารเคมีในพื้นที่ทางตอนใต้ของไต้หวัน (The Southern Center for Emergency Response of Toxic Substance, SERT) ในช่วงระหว่างวันที่ 23 – 28 กันยายน 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 25 คนจาก 8 ประเทศสมาชิก
โครงการฝึกอบรมศักยภาพการรับมือกับเหตุฉุกเฉินจากสารเคมี ที่จัดโดย MOENV ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่สารเคมีจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งโครงการฝึกอบรมข้างต้นมีส่วนช่วยในการช่วยให้กลุ่มประเทศสมาชิก APEC ตระหนักถึงความสำคัญและยกระดับศักยภาพความเชี่ยวชาญในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่เกิดจากสารเคมีที่แฝงภัยอันตรายไว้ โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีตัวแทนจากกลุ่มประเทศสมาชิก APEC เช่น เปรู เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียและไทย รวมถึงกลุ่มประเทศที่มิใช่สมาชิก APEC อย่างฝรั่งเศสและโปแลนด์ เดินทางมาเข้าร่วม เพื่อทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและฝึกอบรมเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญในเชิงลึก
นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การพัฒนาอย่างรุดหน้าทางเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลก ทำให้ปริมาณการใช้สารเคมีและขอบเขตการขนส่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับวัน ความเสี่ยงที่เกิดจากสารเคมีแบบข้ามพรมแดน ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อรับมือกับแนวโน้มข้างต้นนี้ นอกจากกลุ่มประเทศสมาชิก APEC จะมุ่งยกระดับศักยภาพการรับมือของตนเองแล้ว ยังจำเป็นต้องประสานความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทุกที โดยกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างความร่วมมือที่ดีที่สุด จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการรับมือกับสารเคมีของไต้หวัน จะช่วยให้ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกและทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการร่วมจัดตั้งกลไกการรับมือกับภัยพิบัติจากสารเคมีที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
นายเซี่ยเยี่ยนหรู ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการสารเคมี ในสังกัด MOENV กล่าวว่า ศูนย์ SERT ที่ร่วมจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาสง (NKUST) โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมทางวิชาชีพที่ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ไม่เพียงแต่สามารถให้การฝึกอบรมเฉพาะทางเกี่ยวกับการตอบสนองและการควบคุมภัยพิบัติจากสารเคมีแก่หน่วยงานภาครัฐทุกระดับและผู้ปฏิบัติงานด้านสารเคมี แต่ยังสามารถจัดหลักสูตรการฝึกอบรมที่ปรับปรุงได้ตามความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภัยพิบัติจากสารเคมี และสร้างหลักประกันทางด้านความปลอดภัยในชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่แนวหน้า โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เครื่องมือ / อุปกรณ์การฝึกอบรมที่มีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงคณาจารย์ผู้ฝึกอบรมที่เปี่ยมด้วยมาตรฐานสูงของไต้หวัน จะมีส่วนช่วยในการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศสมาชิก ในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสารเคมีต่อไป