New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 26 ก.ย. 67
เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางไปทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ครั้งที่ 1 โดยได้มอบหนังสือแต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการในฐานะประธาน พร้อมกล่าวว่า เพื่อเสริมสร้าง “ความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” พวกเราจำเป็นต้องเตรียมการให้ครอบคลุม อันจะเป็นการเสริมสร้างแสนยานุภาพของประเทศชาติให้มีความเข้มแข็ง และเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของภาคประชาชนให้มีความหนักแน่นมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อพัฒนาศักยภาพการรับมือในด้านต่างๆ ของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการจัดตั้งช่องทางประสานการเจรจาแนวทางความยืดหยุ่นของประเทศชาติ หลอมรวมฉันทามติ รวมถึงยกระดับความทรหดใน 4 มิติหลัก ได้แก่ กลาโหม พลเรือน การบรรเทาภัยพิบัติและประชาธิปไตย
ปธน.ไล่ฯ ชี้ว่า ไต้หวันที่เปี่ยมด้วยความแข็งแกร่งและทรหด จะมุ่งสร้างคุณประโยชน์ในด้านประชาธิปไตย สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง เมื่อใดที่ภาคประชาสังคมไต้หวันเตรียมความพร้อมอย่างครอบคลุม ประเทศชาติก็จะมั่นคงปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น และยิ่งไต้หวันมีความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศด้วยตนเองมากเท่าไหร่ ประชาคมโลกก็จะยิ่งมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
สาระสำคัญของการกล่าวปราศรัยของปธน.ไล่ฯ สรุปได้โดยสังเขป ดังนี้ :
เพื่อผนึกกำลังของทุกแวดวงในประชาคมโลก และเพื่อร่างแนวทางการพัฒนาประเทศชาติ ในโอกาสที่ปธน.ไล่ฯ ดำรงตำแหน่งครบรอบ 1 เดือน ทำเนียบปธน. ก็ได้ประกาศจัดตั้ง 3 คณะกรรมการในประเด็นที่ทั่วโลกร่วมเฝ้าจับตา ซึ่ง “คณะกรรมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” และ “คณะกรรมการส่งเสริมไต้หวันสุขภาพดี” ได้เปิดการประชุมครั้งแรกขึ้นอย่างราบรื่นเมื่อเดือนที่แล้ว
โดยในวันนี้ “คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” ได้จัดการประชุมครั้งแรกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีขอบเขตเป็นวงกว้าง หรือจะเป็นภัยคุกคามที่ลัทธิอำนาจนิยมมีต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสร้างความท้าทายต่อไต้หวันแล้ว ยังเป็นวิกฤตความท้าทายระดับสากล การดำเนินงานและเป้าหมายของ 3 คณะกรรมการข้างต้นนี้ มีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกับ “ความยืดหยุ่นของประเทศชาติ” โดยพวกเราจำเป็นต้องสรรสร้างไต้หวันที่เปี่ยมด้วยความแข็งแกร่งและทรหด เพื่อรับมือกับความท้าทายอย่างกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวันและประชาคมโลก
ที่ผ่านมา ในวาระการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน รัฐบาลไต้หวันได้บูรณาการทรัพยากรจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อยกระดับความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม และปูรากฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งความคืบหน้าในปัจจุบัน ได้พัฒนาจาก “การรวบรวม” มาสู่ “การสร้างบทพิสูจน์” เพื่อจัดตั้งเป็นกลไกความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม
ประการแรก “เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตอยู่เสมอ แม้จะอยู่ในภาวะสงบสุข” พวกเราจำเป็นต้องเตรียมการรับมือให้พร้อมทุกเมื่อ เมื่อเผชิญหน้ากับภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลและหน่วยงานภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมแสดงศักยภาพ เพื่อรักษากลไกทางสังคม ให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม
ประการที่สอง “เสริมสร้างกลไกการรับมือ ไม่หวาดกลัวแม้มีภัยกล้ำกราย” พวกเราจำเป็นต้องขยายขอบเขตการฝึกอบรมและผนวกรวมพลังของภาคประชาชน พร้อมทั้งเสริมสร้างการรวบรวมและบูรณาการเวชภัณฑ์เพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมไปถึงการกระจายสินค้าเพื่อใช้ในการประทังชีวิต การเสริมสร้างทรัพยากรพลังงาน การบริหารโครงสร้างพื้นฐานเชิงสาธารณสุข การแพทย์และสวัสดิการที่ครอบคลุม และการเตรียมความพร้อมในโครงสร้างการหลบภัย รวมถึงการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงด้านโลจิสติกส์และเครือข่ายทางการเงิน เพื่อพัฒนาศักยภาพของไต้หวันในการรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป
ประการสุดท้ายคือ “การจัดขั้นตอนอย่างเป็นระเบียบ” พวกเราต้องดำเนินการตรวจพิสูจน์และฝึกอบรมอย่างครอบคลุม ตั้งแต่รัฐบาลส่วนกลางมาสู่ท้องถิ่น อีกทั้งยังต้องขยายการเชื่อมโยงกับองค์กรเอกชนและประชาสังคม ในการประสานความร่วมมือกันแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและตั้งมั่นอยู่บนหลักการของความเชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับการร่างและพิจารณาแผนนโยบาย รวมทั้งแนวทางปฏิบัติ ปัญหาต่างๆ จึงจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างราบรื่น
ภารกิจ “ความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” มีความหลากหลายและซับซ้อนในหลายมิติ ดังนั้น การจัดตั้งคณะกรรมการจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริง ยึดหลักความเชี่ยวชาญข้ามสาขา ข้ามอายุ และความสมดุลทางเพศ เชิญตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล สถาบันการศึกษา และการวิจัยเข้าร่วม โดยมีที่ปรึกษา 4 คน และกรรมการ 23 คน สำหรับสัดส่วนของคณะกรรมการทั้งหมด ตัวแทนที่ไม่ใช่ภาครัฐมีสัดส่วน 67.7% และสัดส่วนของผู้หญิงคือ 32.3%
เป้าหมายของการจัดตั้ง “ความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” ในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการส่งเสริมให้ทุกคนร่วมแสวงหาจุดที่เราทุกคนสามารถอุทิศคุณประโยชน์ให้แก่สังคมเมื่อเกิดเหตุวิกฤตฉุกเฉิน เพื่อปกป้องตนเอง อุทิศคุณประโยชน์ให้แก่สังคม และสกัดกั้นการรุกรานของศัตรู ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชนทุกคนที่มีต่อสังคมในอนาคตของไต้หวัน
การประชุมในครั้งนี้จะทำการสรุปเป็นรายงานในหัวข้อ “แผนการดำเนินงานและความท้าทายที่เกิดจากความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” ก่อนหน้านี้ ปธน.ไล่ฯ เคยเปรียบเปรยไว้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติก็เปรียบเสมือน “ไข้หวัดเฉียบพลัน” แต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เปรียบเสมือน “โรคเรื้อรัง” ภารกิจความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม มีทั้งที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนและไม่เร่งด่วน นอกจากสถานการณ์ฉุกเฉินทางภัยพิบัติแห่งชาติแล้ว ไต้หวันยังประสบกับการคุกคามด้วยกลยุทธ์พื้นที่สีเทา และสงครามจิตวิทยา
ไต้หวันตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 และเป็นปราการด่านแรกในการปกป้องประชาธิปไตย ที่มุ่งมั่นธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างเต็มที่เสมอมา ปธน.ไล่ฯ เชื่อว่า ไต้หวันที่แข็งแกร่งและทรหด จะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกในด้านประชาธิปไตย สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองได้
ปธน.ไล่ฯ ยังเชื่อมั่นว่า เมื่อใดที่ไต้หวันเตรียมการพร้อมแล้ว และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอันแน่วแน่ กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกับไต้หวัน ก็จะยินดีให้ความช่วยเหลือ เพื่อร่วมรับมือกับความท้าทายนานาประการด้วยความสามัคคี และช่วยลดความเสี่ยงไปด้วยกัน