New Southbound Policy Portal

ไต้หวันและสหรัฐฯ ร่วมมือนำพันธมิตรนานาชาติผลักดันกลยุทธ์การหมุนเวียนผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 2 ต.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา กรมการหมุนเวียนทรัพยากร กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้จัดงานประชุมประจำปี "เครือข่ายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ 2567" (International E-Waste Management Network, IEMN) ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคม 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คนจากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ตูวาลู อาร์เจนตินา โคลอมเบีย บราซิล และไต้หวัน เพื่อหารือในประเด็นกลยุทธ์การหมุนเวียนผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก แบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี นำพาประเทศพันธมิตรให้ร่วมกันมุ่งมั่นในการหมุนเวียนทรัพยากร พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และลดการทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์
 
IEMN เป็นกิจกรรมภายใต้การลงนามความตกลงว่าด้วยเทคโนโลยีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมผลักดัน IEMN มานับตั้งแต่ปี 2554 โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมในระดับโลก และมีอิทธิพลอย่างมากในการช่วยเหลือประเทศพันธมิตรให้จัดตั้งระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาเทคโนโลยี IEMN ซึ่งในอดีตเน้นที่การรีไซเคิลและการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปสู่กลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
 
นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวขณะปราศรัยว่า เพื่อขานรับกระแส Net Zero รัฐบาลไต้หวันจึงได้ประกาศแนวทางเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ซึ่งในจำนวนนี้ กระบวนการรีไซเคิลมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ที่ได้มีการจัดตั้งกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในไต้หวันขึ้นเป็นต้นมา รัฐบาลก็ได้ประกาศยืดขยายระยะเวลาของการบังคับใช้ระบบเงินทดแทนสำหรับผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการผลักดันแผนปฏิบัติการด้านการรีไซเคิลรูปแบบ 4 in 1 จวบจนปัจจุบัน ซึ่งมีการก่อตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็ได้มีการกำหนดให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเป้าหมายในลำดับขั้นต่อไป หลายปีมานี้ การคัดแยกประเภทขยะมีความเกี่ยวโยงใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของพวกเรา โดยที่อัตราการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ในปัจจุบัน อยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 58
 
รมว.เผิงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็น 1 ใน 8 รายการสำคัญของการหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อการบรรลุ Net Zero ตลอดที่ผ่านมา กรมทรัพยากรหมุนเวียนได้ผลักดันนโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเดิม ตั้งแต่การออกแบบกลไกการหมุนเวียน การบริหารจัดการแหล่งกำเนิด การเสริมสร้างกลไกการรีไซเคิล และการนำกลับไปประยุกต์ใช้ใหม่ อันจะเห็นได้จากการจัดตั้งค่าดัชนีการซ่อมบำรุงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การผลักดันการจัดทำประวัติผลิตภัณฑ์ทางดิจิทัล การส่งเสริมให้ใช้วิธีเช่าแทนการซื้อ การหมุนเวียนการซื้อ - ขายในรูปแบบเศรษฐกิจร่วม และนโยบายแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้นำชิ้นส่วนพลาสติกในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มาแลกรับเบี้ยรักษ์โลก เพื่อส่งเสริมให้แนวคิดการออกแบบสีเขียวได้รับการบรรลุให้เกิดประสิทธิผล ในขณะเดียวกัน การใช้แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนยอมรับ มาผนวกรวมกับความคิดสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปลุกจิตสำนึกของสาธารณชนและเชิญชวนให้เข้ามีส่วนร่วม จะทำให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
 
เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการผลักดันทรัพยากรหมุนเวียน ไต้หวันได้มีการประยุกต์ใช้กลยุทธ์การต่อสู้แบบกลุ่ม โดยบูรณาการทรัพยากรจากหลายฝ่าย แสวงหาและสร้างสัมพันธ์กับพันธมิตรจากทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันและข้ามอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมทุกแขนงพัฒนาสู่รูปแบบการแข่งขันในยุคใหม่ กระตุ้นให้เกิดสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมในอีกระดับหนึ่ง เพื่อยืนหยัดอยู่ในตลาดระหว่างประเทศได้อย่างมั่นคง
 
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน โดยมีการอภิปรายกันในประเด็นที่กว้างขวาง ทั้งนโยบายและมาตรการที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมีกิจกรรมสัมผัสประสบการณ์การซ่อมบำรุง และการเข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการ เป็นต้น