New Southbound Policy Portal

กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการ AI 3 โครงการ

กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ วันที่ 7 ต.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ (Ministry of Health and Welfare, MOHW) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการ AI แห่งธรรมาภิบาล” “ศูนย์ตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานทางคลีนิกด้วย AI” และ “ศูนย์วิจัยผลกระทบด้านเทคโนโลยี AI” โดย MOHW ได้ประกาศโครงการอุดหนุนศูนย์ AI ทั้ง 3 โครงการข้างต้น ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 และจัดการฝึกอบรมทั่วประเทศ ก่อนปิดรับสมัครในวันที่ 1 สิงหาคม โดยมีโรงพยาบาลสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 30 แห่ง และยื่นแผนการปฏิบัติโครงการทั้งสิ้น 48 โครงการ หลังจากผ่านการคัดเลือกสามขั้นตอนโดยคณะกรรมการทั้งในและต่างประเทศ มีโรงพยาบาลในประเทศ 16 แห่ง ผ่านการตัดสินสุดท้าย (19 โครงการ) รวมถึงโรงพยาบาลใหญ่ๆ ของไต้หวัน เช่น โรงพยาบาลแห่งชาติไต้หวัน, โรงพยาบาลทหารผ่านศึกไทจง, โรงพยาบาลทหารผ่านศึกไทเป, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเฉิงกง, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์จีน, โรงพยาบาลทหารสามเหล่าทัพ และโรงพยาบาลฉางเกิงหลินโข่ว แต่ละศูนย์จะสร้างความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลต่างระดับและระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาหลักสามประการที่ต้องเผชิญในการนำ AI ไปประยุกต์ใช้งานในทางคลินิก ได้แก่ "การนำไปใช้ในพื้นที่", "การยืนยันความถูกต้อง" และ "การชำระเงิน" ซึ่งไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในทางการแพทย์ของไต้หวัน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลไต้หวันในการส่งเสริมการแพทย์อัจฉริยะ
 
ในระหว่างที่นานาประเทศกำลังมุ่งพัฒนาการแพทย์รูปแบบอัจฉริยะ ความท้าทายที่ต้องเผชิญหน้าประกอบด้วย ความไม่ยืดหยุ่นของซอฟต์แวร์ AI ในระหว่างการประยุกต์ใช้เชิงคลินิก รวมไปถึงความไม่โปร่งใส ความมั่นคงทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ ในกระบวนการยื่นขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไต้หวัน (TFDA) ยังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลสถิติจำนวนมหาศาลเพื่อการยืนยันตรวจสอบ แต่การยืนยันข้อมูลเป็นเรื่องยากที่จะสามารถรวบรวมได้ นอกจากนี้ การพิจารณาการเบิกจ่ายในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการนำไปประยุกต์ใช้ และเฝ้าติดตามประสิทธิผลเชิงคลินิก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายหลักที่ต้องประสบ ในระหว่างการผลักดันการแพทย์รูปแบบอัจฉริยะ
 
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจึงริเริ่มผลักดันการญัตติกฎหมายและต้นแบบฉันทามติ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ อาทิ 6 หลักการที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ญัตติกฎหมาย AI ของสหภาพยุโรป (EU) และความโปร่งใสของกระบวนการอัลกอริทึ่ม AI ของสหรัฐฯ และข้อตกลงด้านการแบ่งปันข้อมูล (HTI-1) อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้ยังมิได้พัฒนาไปสู่การจัดตั้งอย่างเป็นรูปธรรมในนานาประเทศ ดังนั้น เพื่อวางรากฐานการพัฒนาในอนาคต MOHW จึงได้ชี้แนะให้สถานพยาบาลในไต้หวันจัดตั้งศูนย์ AI ตาม 3 โครงการข้างต้นขึ้น เพื่อเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาการผลักดันการแพทย์รูปแบบอัจฉริยะ โดยรายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์ AI ใน 3 โครงการดังกล่าว ได้แก่
 
 “ศูนย์ปฏิบัติการ AI แห่งธรรมาภิบาล” โดยการกำหนดแนวทางการจัดการที่สอดคล้องกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว การเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโมเดลของ AI ข้อมูลต่างๆ และประสิทธิภาพ พร้อมทั้งนำเสนอผลการวิเคราะห์ที่สามารถอธิบายได้ จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสของ AI นอกจากนี้ยังต้องจัดทำแนวทางการจัดการวงจรชีวิตของโมเดล AI เพื่อให้มั่นใจว่า AI มีความน่าเชื่อถือและใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในทางคลินิก
 
“ศูนย์ตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานทางคลีนิกด้วย AI” เป็นการประสานความร่วมมือของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของ MOHW และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (TFDA) มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในกระบวนการตรวจรับรองซอฟต์แวร์ AI ทางการแพทย์ในไต้หวัน และความยุ่งยากในการรวบรวมชุดข้อมูลการตรวจสอบที่ใช้ข้อมูลของประชากรไต้หวัน ในอดีต กลไกการตรวจสอบ AI ภายนอกขาดความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลต่างระดับ สถานประกอบการ และเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง อย่างเป็นระบบ ศูนย์ประเภทนี้จะจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรเป็นการล่วงหน้าของกลุ่มโรงพยาบาล สถานประกอบการและเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง ที่เชื่อมโยงข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ข้ามระบบและข้ามระดับ เพื่อช่วยผู้ผลิตในการตรวจสอบโมเดล AI เพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการตรวจสอบในหมู่ประชากรไต้หวัน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และช่วยให้ประชาชนในประเทศได้รับประโยชน์จากการแพทย์อัจฉริยะที่มีคุณภาพสูงได้เร็วขึ้น
 
“ศูนย์วิจัยผลกระทบด้านเทคโนโลยี AI” เป็นความร่วมมือระหว่างฝ่ายกิจการเทคโนโลยีสารสนเทศของ MOHW และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติไต้หวัน (NHI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ AI ทางการแพทย์ในไต้หวัน ให้สามารถบรรจุเข้าระบบการชำระเงินของระบบประกันสุขภาพ เนื่องจากราคาของผลิตภัณฑ์ AI ไม่สามารถประเมินต้นทุนได้ตามแนวทางดั้งเดิมของอุปกรณ์การแพทย์ที่มาจากการผลิต ศูนย์ฯ จะสร้างกลไกการทดลองทางคลินิกที่ข้ามระบบและข้ามระดับ พร้อมทั้งออกแบบการวิจัยโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อประเมินประสิทธิภาพทางคลินิกของ AI เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ AI มีประสิทธิภาพทางคลินิกและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ พร้อมทั้งวางรากฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการกำหนดราคาที่เหมาะสม