New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันจัดพิธีเปิด “โครงการฝึกอบรมผู้นำเยาวชนจากประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก”

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 ต.ค. 67
 
กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสถาบัน East West Center (EWC) คลังสมองของรัฐฮาวายสหรัฐฯ ได้ร่วมกันจัด “โครงการฝึกอบรมผู้นำเยาวชนจากประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก” (Pacific Islands Leadership Program with Taiwan, PILP) ซึ่งได้เปิดฉากขึ้น ณ สถาบันฝึกอบรมด้านการทูตและกิจการระหว่างประเทศ (Institute of Diplomacy and International Affairs, IDIA) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยในพิธีมีนายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้อำนวยการ IDIA ทำหน้าที่เป็นประธาน พร้อมเชิญคณะทูตานุทูตที่ประจำการในไต้หวันอย่าง Ms. Anjanette Kattil เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ Mr. Jeremy Cornforth รองผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT/T) Dr. James Perez Viernes รองประธานโครงการการพัฒนากลุ่มประเทศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก และ Mr. Mark Pearson ผู้แทนรัฐบาลนิวซีแลนด์ประจำไต้หวัน เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการดังกล่าวด้วย
 
รมช.อู๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศ ขอต้อนรับผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากกลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เดินทางมาเยือนไต้หวัน พร้อมระบุว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา ภาษาของกลุ่มชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ในไต้หวัน ล้วนเป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนที่ใช้ในกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ในด้านวัฒนธรรมดั้งเดิม ทักษะฝีมือการถักสาน ศิลปะการสัก อาหารการกินของกลุ่มชนพื้นเมืองไต้หวันและกลุ่มชนในประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีหลายจุดที่คล้ายคลึงกัน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันที่ลึกซึ้ง
 
รมช.อู๋ฯ ชี้ว่า กลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกและไต้หวัน ต่างประสบกับสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาค และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไต้หวันมีความสามารถและมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการอุทิศคุณประโยชน์ด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค ตลอดจนยินดีที่จะส่งมอบความช่วยเหลือให้กลุ่มประเทศเป้าหมายในการเสริมสร้างศักยภาพ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย
 
Ms.Kattil กล่าวขณะปราศรัยว่า ขณะนี้ กลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ต่างกำลังเผชิญกับความมั่นคงในภูมิภาคและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือของกลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในการมุ่งบรรลุ “แผนแม่บทด้านการพัฒนาในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกสีคราม ปี พ.ศ. 2593” (2050 Strategy for the Blue Pacific Continent)” อีกทั้งไต้หวันยังถือเป็นต้นแบบของกลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในด้านการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
 
Mr. Cornforth แถลงว่า จุดมุ่งหมายของ “แผนแม่บทด้านการพัฒนาในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกสีคราม ปี พ.ศ. 2593” มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยในจำนวนนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการส่งเสริมสิทธิสตรี ถือเป็นประเด็นความร่วมมือระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ดำเนินร่วมกันมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไต้หวัน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้เปิดฉากการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ขึ้น ณ ตูวาลูขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมอภิปรายแนวทางการจัดตั้งกลไกการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของกลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
 
ตราบจนปัจจุบัน โครงการข้างต้นได้บ่มเพาะเยาวชนคุณภาพให้แก่กลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มาเป็นจำนวนกว่า 197 คน รวม 9 สมัย โดยผู้ที่สำเร็จหลักสูตรการอบรมต่างเข้ารับราชการ หรือประกอบอาชีพทางด้านกฎหมาย การแพทย์ การศึกษา สื่อและองค์การนอกภาครัฐ (NGO) นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้ว่า โครงการข้างต้นนอกจากจะสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ แล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ที่นำพาสู่ความเจริญรุ่งเรือง ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในอนาคตอีกด้วย