New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันขอบคุณกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ให้การสนับสนุนไต้หวันในการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 รวมไปถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น และการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น - จีน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 12 ต.ค. 67
 
Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนลาว เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Summit) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ครั้งที่ 19 ในช่วงระหว่างวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2567 โดยรมว. Blinken แสดงจุดยืนเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ เชื่อมั่นว่า การรักษาคำมั่นในการปกป้องเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน มีความสำคัญยิ่ง นอกจากนี้ รมว. Blinken ยังได้ระบุถึงการคงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงพฤติกรรมยั่วยุและท้าทายของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก  ถือเป็นการสร้างความวิตกกังวลและเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคและทั่วโลก
 
นอกจากนี้ รมว. Blinken ยังได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 พร้อมตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนว่า กลุ่มประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมในการประชุม ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ต่างคาดหวังที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมย้ำว่า การแสดงสุนทรพจน์เนื่องในวาระพิธีฉลองวันชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่เดิม จีนไม่ควรใช้เรื่องดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการก่อพฤติกรรมที่เป็นการสร้างความยั่วยุท้าทาย นอกจากนี้ รมว. Blinken ยังได้แสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อการธำรงรักษาสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวัน ควบคู่ไปกับการต่อต้านการใช้พฤติกรรมการข่มขู่ด้วยกำลังทหารในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม ตลอดจนย้ำว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวันครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก ประกอบกับอุปทานของแผ่นชิปขั้นสูงมากกว่าร้อยละ 70 ถูกผลิตขึ้นในไต้หวัน แสดงให้เห็นว่า สถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันที่เปี่ยมด้วยสันติภาพและเสถียรภาพ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก
 
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ กรุงเวียงจันทน์ของประเทศลาว ในช่วงระหว่างวันที่ 6 – 11 ตุลาคม 2567 โดยในระหว่างนี้ กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดียและเกาหลีใต้ ต่างก็แสดงจุดยืนให้ความสำคัญและแสดงความห่วงใยต่อสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ทะเลจีนใต้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอแสดงความชื่นชมด้วยใจจริง
 
หลังจากนี้ ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ตามหลักการ “การทูตแบบบูรณาการ” เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งค่านิยมร่วมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea, UNCLOS) เพื่อร่วมธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ตลอดจนส่งเสริมให้สันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง ดำรงอยู่ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกอย่างมั่นคงสืบไป
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 นายชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าร่วม “การประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น” และ “การประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น - จีน” ที่จัดขึ้นในประเทศลาว โดยนรม.อิชิบะแสดงจุดยืนย้ำว่า สันติภาพและเสถียรภาพช่องแคบไต้หวันมีความสำคตัญต่อประชาคมโลกเป็นอย่างมาก กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีและขอแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่องเสมอมา
 
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างเปิดเผยบนเวทีนานาชาติเสมอมา แสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อสันติภาพช่องแคบไต้หวันอย่างเต็มที่ ตลอดจนแสดงให้เห็นว่า การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นฉันทามติร่วมกันของพันธมิตรด้านประชาธิปไตยในระดับสากล