New Southbound Policy Portal

นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับ Mr. Lutz Güllner ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรปประจำไต้หวัน คาดหวังให้ทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ พร้อมร่วมกันรักษาความสัมพันธ์ ระหว่างไต้หวัน – EU ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

สภาบริหาร วันที่ 16 ต.ค. 67

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Lutz Güllner ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรป (European Economic and Trade Office, EETO) ประจำไต้หวัน พร้อมด้วยคณะ โดยนรม.จั๋วฯ กล่าวว่า ไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU) เป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยและหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของกันและกัน นรม.จั๋วฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากที่ผอญ. Güllner ขึ้นรับตำแหน่งแล้ว จะกระตุ้นให้ทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement, EPA) โดยเร็ววัน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรม โดยนรม.จั๋วฯ เน้นย้ำว่า เมื่อหลายวันก่อนจีนได้จัดการซ้อมรบขึ้นอีกครั้ง โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงจุดยืนหนักแน่นถึงการธำรงรักษาเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และทัศนคติที่ยึดมั่นในหลักการสันติภาพ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่า ไต้หวันพร้อมแบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ นรม.จั๋วฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อพันธมิตรด้านประชาธิปไตยโลกที่ร่วมส่งมอบความสนับสนุนให้แก่ไต้หวัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไต้หวันและกลุ่มประเทศประชาธิปไตยของ EU จะประสานความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อส่งเสริมให้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคียังคงยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงไม่สั่นคลอน
 
นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า EU เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่สำคัญของไต้หวันเสมอมา ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า EU เป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ซึ่งยอดการลงทุนที่ไต้หวันมีต่อยุโรปตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สามารถไล่ทันยอดสะสมรวมตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา จึงถือว่าบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีเยี่ยม และทั้งสองฝ่ายได้ประสานความร่วมมือกันในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งด้านเซมิคอนดักเตอร์ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและพลังงานสีเขียว รวมไปถึงความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญที่ประชาคมโลกต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
 
โดยเฉพาะปธน.ไล่ฯ ที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทและคุณประโยชน์ของไต้หวันที่มีต่อระบบห่วงโซ่อุปทานระดับสากล ด้วยเหตุนี้ สภาบริหารจึงมุ่งพัฒนา “5 อุตสาหกรรมหลักที่เชื่อถือได้” ที่เสนอโดยปธน.ไล่ฯ ประกอบด้วย เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลาโหม ความมั่นคงทางไซเบอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยหวังว่าในอนาคต ไต้หวัน – EU จะสามารถอ้างอิงรูปแบบ “ความตกลงว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้า” และ “แผนริเริ่มทางการค้าในศตวรรษที่ 21” ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและลงนาม “ความตกลงเชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” (EPA) ที่เป็นรูปธรรมต่อไป
 
นรม.จั๋วฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวัน – EU เป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่สำคัญของกันและกัน โดยนรม.จั๋วฯ ขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ EU ที่ได้ชูหลักการความสำคัญของการประสานความร่วมมือกับไต้หวัน ทั้งในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก และญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันที่ได้รับมติเห็นชอบจากรัฐสภายุโรป พร้อมกันนี้ ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) กลุ่มประเทศสมาชิก EU ต่างให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมาย นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จีนได้ประกาศจัดการซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (European External Action Service, EEAS) ได้ออกแถลงการณ์บ่อยครั้ง เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม ผ่านวิธีการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร ซึ่งถือเป็นพลังสนับสนุนในประชาคมโลกที่ส่งมอบให้แก่ไต้หวัน
 
ประกอบกับในระยะนี้ อดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐเช็ก และฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดการต่อไปคือเบลเยี่ยม โดยอดีตปธน.ไช่ฯ กล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐเช็กว่า “ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้” พร้อมทั้งหวังว่าไต้หวันและกลุ่มประเทศสมาชิก EU จะประสานความร่วมมือกันอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้นไปในอนาคต
 
ในลำดับต่อมาเป็นการกล่าวปราศรัยของผอญ. Güllner โดยระบุว่า EU - ไต้หวัน มีโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างกันหลายรายการ นอกจากประเด็นการค้าและการลงทุนแบบดั้งเดิมแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังต้องเผชิญกับประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดผ่านรูปแบบนวัตกรรม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วย ความร่วมมือทางการศึกษาและดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนที่มีศักยภาพในการเปิดบริบทใหม่ทางความร่วมมือในอนาคตเป็นอย่างมาก
 
ผอญ. Güllner ระบุว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมา EEAS ได้ประกาศแถลงการณ์ โดยระบุว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน มีนัยยะสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผอญ. Güllner เน้นย้ำว่า ความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – EU ตั้งอยู่บนค่านิยมร่วมด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางความร่วมมือแบบทวิภาคีต่อไปในอนาคต