New Southbound Policy Portal
กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 22 ต.ค. 67
เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 กลุ่มตัวแทนการเรียนรู้เชิงลึกรูปแบบใหม่ของไต้หวัน (New Pedagogies Deep Learning Taiwan, NPDL) ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการศึกษาแห่งกรุงออตตาวา (Ottawa Catholic School Board, OCSB) ประเทศแคนาดา เพื่อสืบสานความสัมพันธ์แบบทวิภาคีและการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหมาย สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัดการประชุมข้ามพรมแดน ระหว่าง Taiwan NPDL และ OCSB ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่ออภิปรายสถานการณ์ล่าสุดของการเรียนรู้เชิงลึก และประสบการณ์เชิงปฏิบัติจริง ตลอดจนร่วมพูดคุยกันในประเด็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ในระหว่างการประชุม คณะตัวแทน OCSB ของแคนาดาได้แบ่งปันความคืบหน้าล่าสุดของการผลักดันกลไกการเรียนรู้เชิงลึกในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อันประกอบด้วย การจัดตั้งศักยภาพของการเรียนรู้เชิงลึก แนวทางการออกแบบการเรียนการสอนและการบ่มเพาะศักยภาพระดับสากลในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาทิเช่น การคิดเชิงวิพากษ์ หรือแม้แต่แนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานการคิดเชิงวิพากษ์ของนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนอาศัยการศึกษาวิจัยมาช่วยส่งเสริมให้เหล่านักเรียนเข้ามีส่วนร่วมในหลักสูตรวิชาอย่างกระตือรือร้น และประสบความก้าวหน้าทางวิชาการ
ตัวแทนฝ่ายไต้หวันแบ่งปันว่า นับตั้งแต่ที่ได้มีการผลักดันการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีเป็นต้นมา ประเด็นการบ่มเพาะให้นักเรียนมีศักยภาพการคิดเชิงวิพากษ์และบูรณาการข้ามศาสตร์ ถือเป็นเป้าหมายหลักของแวดวงทางการศึกษาไปแล้ว สำหรับการก่อกำเนิดและการพัฒนาเทคโนโลยี AI และ Generative AI ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ทางการศึกษา ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนและความท้าทายทางการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์และสร้างความสมดุลระหว่างกันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สถาบัน Taiwan NPDL นอกจากจะบ่มเพาะให้นักเรียนประยุกต์ใช้ศักยภาพทางเทคโนโลยี AI แล้ว ยังกระตุ้นให้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันให้เหล่าเยาวชนเพียบพร้อมไปด้วยศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายในโลกที่มีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา