New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 ต.ค. 67
“คณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภายุโรปแบบข้ามพรรค” มีกำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 โดยมี Mr. Michael Gahler ประธานกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภายุโรป เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยสมาชิกอีก 3 คน นับเป็นคณะตัวแทนสมาชิกสภายุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเยือนไต้หวัน หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอให้การต้อนรับด้วยใจจริง
ในระหว่างนี้ คณะตัวแทนมีกำหนดการเข้าพบคารวะรองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พร้อมทั้งเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่จัดต้อนรับโดยนายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังจะเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่สภานิติบัญญัติ หน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนภาคเอกชน รวมถึงพรรคการเมืองสำคัญ ในประเด็นสถานการณ์การพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจของไต้หวัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน – EU รวมไปถึงภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น
ในช่วงเช้าของวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นางสาวเซียวเหม่ยฉิน รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภายุโรปแบบข้ามพรรค” โดยรองปธน.เซียวฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐสภายุโรปที่มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน ระหว่างไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU) อย่างหนักแน่น และเป็นผู้นำสำคัญในการให้ความสนับสนุนญัตติที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
รองปธน.เซียวฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อพลังเสียงสนับสนุนของกลุ่มผู้นำรัฐสภายุโรป ที่ได้ผ่าน “ญัตติว่าด้วยความไม่เหมาะสมที่จีนจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงของญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 และสร้างความท้าทายด้วยการข่มขู่ทางกำลังทหารอย่างต่อเนื่อง” โดยญัตติฉบับนี้มีความเกี่ยวพันกับประเด็นที่พวกเราต่างเฝ้าจับตาร่วมกัน สะท้อนให้เห็นถึงการจงใจตีความญัตติ 2758 ในทิศทางที่ขัดต่อความเป็นจริง กีดกันมิให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ รวมไปถึงการแสดงพฤติกรรมการคุกคามด้วยกำลังทหารในภูมิภาค
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายอู๋เจิ้งจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อต้อนรับคณะตัวแทนที่นำโดย Ms. Aukje de Vries ประธานคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาแห่งสภาผู้แทนราษฎรฟินแลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ฟินแลนด์ สถานการณ์ในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก และสงครามรัสเซีย – ยูเครน เป็นต้น
รมช.อู๋ฯ กล่าวให้การยอมรับต่อรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่ได้จัดส่งเรือรบ Tromp แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 อีกทั้ง รมช.อู๋ฯ ยังได้ขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์เป็นพิเศษ ที่ได้ผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยระบุชัดว่า จีนจงใจบิดเบือนญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 โดยญัตติฉบับข้างต้นมิได้มีส่วนเชื่อมโยงถึงไต้หวันเลย และมิได้กีดกันการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน โดยสภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์เป็นแกนนำรัฐสภายุโรปที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านญัตติ 2758 และเป็นการกระตุ้นให้รัฐสภายุโรปแสดงจุดยืนสนับสนุนตามมาในภายหลัง นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังคาดหวังว่าไต้หวัน – เนเธอร์แลนด์ จะมุ่งประสานความร่วมมือกันอย่างแนบแน่นในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ตลอดจนมุ่งอุทิศคุณประโยชน์ด้านความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาคมโลกสืบต่อไป
นอกจากนี้ ในช่วงเที่ยงของวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อต้อนรับคณะตัวแทนกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาฟินแลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นการประสานความร่วมมือระหว่างพันธมิตรด้านประชาธิปไตยในการสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทานด้านประชาธิปไตย และความร่วมมือแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – ฟินแลนด์ เป็นต้น
Ms. Fatim Diarra และ Mr. Saku Nikkanen ซึ่งเป็น 2 สมาชิกคณะตัวแทน ต่างให้การยอมรับต่อความสำคัญของการประสานสามัคคีระหว่างพันธมิตรด้านประชาธิปไตย พร้อมระบุว่า ไต้หวัน – ฟินแลนด์ สามารถเสริมสร้างความร่วมมือกันในเชิงลึกด้านเทคโนโลยีและการศึกษา ประจวบกับวันที่คณะตัวแทนเดินทางมาถึงไต้หวัน ตรงกับวันจัดกิจกรรม Taiwan LGBT Pride parade ภาพบรรยากาศของกิจกรรมทำให้คณะตัวแทนเกิดความรู้สึกประทับใจต่อวัฒนธรรมไต้หวัน ที่เปี่ยมด้วยความหลากหลาย เปิดกว้างและมีพลังสดใส ตลอดจนคาดหวังว่าไต้หวัน – ฟินแลนด์จะเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกันโดยเร็ววัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชนแบบทวิภาคีให้เกิดความแนบแน่นยิ่งขึ้น