New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 4 พ.ย. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางไปยังนครเกาสง เพื่อเป็นประธานใน “พิธีวางกระดูกงูเรือฟริเกตเบา ขั้นต้นแบบสำหรับการป้องกันภัยทางอากาศ” โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ในครั้งนี้เป็นเรือรบระดับที่ 2 ของกองทัพเรือลำแรกที่ถูกสร้างขึ้นภายในประเทศ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ 3 ประการ อันประกอบด้วย พัฒนาการที่รุดหน้าของ “นโยบายการสร้างเรือรบขึ้นภายในประเทศ” ศักยภาพทางอุตสาหกรรมกลาโหมที่นับวันยิ่งได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเสริมสร้างแสนยานุภาพในการป้องกันดินแดนชายฝั่งทะเลอย่างครอบคลุม การผลักดันนโยบาย “เรือรบที่ผลิตในประเทศ” นอกจากจะเป็นการธำรงรักษาความมั่นคงของประเทศชาติ และเป็นการปกป้องประชาชนแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความครอบคลุมของระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมเรือรบ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทุกภาคส่วนร่วมมุ่งมั่นในการเพื่อยกระดับแสนยานุภาพทางกลาโหมของไต้หวันต่อไป
ปธน.ไล่ฯ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญประการแรกที่กล่าวถึงพัฒนาการที่รุดหน้าของ “นโยบายการสร้างเรือรบขึ้นภายในประเทศ” ว่า การสร้างเรือลำนี้ขึ้นเป็นความคิดริเริ่มของอดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ที่ได้เดินทางมาร่วมเปิดโครงการในนครเกาสง เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ภายในระยะเวลาไม่ถึงปี ภารกิจการต่อเรือก็บังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่รุดหน้าของ “นโยบายการสร้างเรือรบขึ้นภายในประเทศ” และเป็นการประกาศให้ประชาคมโลกตระหนักเห็นถึงแนวคิดด้าน “อุตสาหกรรมกลาโหมแบบพึ่งพาตนเอง” ที่ไต้หวันยึดมั่นอย่างหนักแน่น
ความสำคัญประการที่ 2 คือ ศักยภาพทางอุตสาหกรรมกลาโหม ซึ่งถูกยกระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายปีมานี้ รัฐบาลมุ่งผลักดัน “เรือรบที่ผลิตในประเทศ” ซึ่งนอกจากจะตอบสนองต่อความต้องการทางกลาโหมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาควิชาการ เข้ามีส่วนร่วมในการยกระดับศักยภาพทางอุตสาหกรรมกลาโหม ปธน.ไล่ฯ จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อความมุ่งมั่นพยายามของบริษัทต่อเรือจงซิ่น (Jong Shyn Shipbuilding Group) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน จากทั้งกระทรวงกลาโหม กองทัพเรือและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจงซานแห่งชาติ (National Chung-Shan Institute of Science & Technology, NCSIST) ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางอุตสาหกรรมแล้ว ยังถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของ “การพึ่งพาตนเองทางกลาโหม” อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ความสำคัญประการสุดท้าย คือ การเสริมสร้างแสนยานุภาพการป้องกันชายฝั่งทะเลอย่างครอบคลุม ในอนาคตหลังจากที่เรือรบลำนี้สร้างขึ้นจนแล้วเสร็จ จะมีการติดตั้งขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ และขีปนาวุธต่อต้านเรือ ควบคู่ไปกับการบูรณาการระบบการลาดตระเวณ ปืนใหญ่และระบบการบริหารจัดการทางสงครามขั้นสูง ซึ่งจะสามารถรับหน้าที่ในการลาดตระเวณชายฝั่งด้วยสมรรถนะสูง ทำให้แสนยานุภาพทางการป้องกันชายฝั่งทะเลของไต้หวันมีความครอบคลุม และทวีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้กองทัพเรือมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยและปลอดภัยไว้สำรองใช้เพิ่มมากขึ้น ในการปฏิบัติภารกิจการปกป้องพรมแดนทางฝั่งทะเลต่อไป