New Southbound Policy Portal

รองปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนทางเศรษฐกิจและการค้าที่นำโดย Mr. Brad Little ผู้ว่าการรัฐไอดาโฮ พร้อมกันนี้ รมว.กต.ไต้หวันลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีของการสานสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ระหว่างไต้หวัน - รัฐไอดาโฮ”

ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 5 พ.ย. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นางสาวเซียวเหม่ยฉิน รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนทางเศรษฐกิจและการค้า ที่นำโดย Mr. Brad Little ผู้ว่าการรัฐไอดาโฮ พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่รัฐไอดาโฮ ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันในด้านความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่สานสัมพันธ์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองฝ่ายจะมุ่งพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีในเชิงลึกต่อไป
 
รองปธน.เซียวฯ กล่าวว่า ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน - รัฐไอดาโฮ มีความสำคัญต่อไต้หวันเป็นอย่างมาก การจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกของรัฐไอดาโฮในไต้หวัน มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน โดยพวกเราเชื่อว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์ต่อไปในอีก 40 ปีข้างหน้า
 
ในวันเดียวกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ยังได้จัดพิธีลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการผูกสัมพันธ์เป็นเมืองพี่น้อง ระหว่างไต้หวัน - รัฐไอดาโฮ” โดยมีนายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. Brad Little ผู้ว่าการรัฐไอดาโฮ ทำหน้าที่เป็นผู้ลงนาม โดยทั้งสองฝ่ายต่างคาดหวังที่จะมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องที่มีร่วมกันมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี พร้อมทั้งขยายขอบเขตความร่วมมือในด้านต่างๆ ออกไปเป็นวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี การศึกษาและวัฒนธรรม เป็นต้น โดยรมว.หลินฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อสภาไอดาโฮ ที่ร่วมลงมติผ่านญัตติให้การสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคี และการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน ไต้หวันถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของรัฐไอดาโฮ ซึ่งนอกจากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ก็ยังครองสัดส่วนมูลค่าการค้าแบบทวิภาคี กว่าร้อยละ 40 อีกด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ประสานความร่วมมือในการจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ภายใต้พื้นฐานความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและวิชาการ ที่เปี่ยมด้วยความมั่นคงและความยืดหยุ่น โดยคาดหวังที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีในอนาคตอีก 40 ปีข้างหน้าต่อไป