New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 ต.ค. และ 6 พ.ย. 67
“การสัมมนาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการบำบัดดินและน้ำบาดาล ปี 2567” ที่จัดขึ้นโดยสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment, MOENV) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ของไทย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญไต้หวันจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ เข้าร่วมอภิปรายและแบ่งปันประสบการณ์ทางเทคโนโลยีการบำบัดดินและน้ำบาดาล ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านกฎหมายและเทคโนโลยีของทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการวางรากฐานความร่วมมือด้านการบริหารสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศในอนาคต
นายหลิวรุ่ยเสียง รองอธิบดีกรมบริหารสิ่งแวดล้อม กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวัน – ไทยได้ประสานความร่วมมือกันในด้านการบริหารและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมุ่งผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการประชุมในครั้งนี้ ตลอดจนเป็นการวางรากฐานความร่วมมือในอนาคตให้แก่ทั้งสองฝ่ายต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้มอบหมายให้นายจางเกินมู่ รองอธิบดีกรมปกป้องคุณภาพอากาศและควบคุมเสียง นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ในประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารควบคุมมลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียง โดยเจ้าหน้าที่ไทยต่างรู้สึกความประทับใจต่อประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษของไต้หวัน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ เพื่อซึมซับประสบการณ์จากผลสัมฤทธิ์ของไต้หวัน
MOENV แถลงว่า ทางกระทรวงฯ จะพุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาการบริหารควบคุมมลพิษทางเสียงและมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมไทยกำลังประสบอยู่ โดยเจ้าหน้าที่กรมสภาพแวดล้อมชั้นบรรยากาศ ได้รวบรวมประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จ พร้อมจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปร่วมแบ่งปันและหารือเพื่อให้ไทยได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้อง
MOENV ชี้แจงว่า จากการแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับกรมควบคุมมลพิษของไทยในครั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถเสริมสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือในภารกิจการป้องกันมลพิษทางอากาศในภูมิภาคเอเชีย ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบของประชาคมโลก เพื่อร่วมสร้างความร่วมมือในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ด้วยการร่วมปรับปรุงคุณภาพอากาศในภูมิภาคให้ดีขึ้นโดยเร็ววัน