New Southbound Policy Portal

หน่วยงานบริหารของสหรัฐฯ ส่งหนังสือถึงผู้ว่าการทุกรัฐและผู้ว่าการเมืองหลักของสหรัฐฯ รวมถึงบริษัท Top 500 ให้ขยายความสัมพันธ์กับไต้หวัน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 พ.ย. 67
 
สถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) เผยว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพาณิชย์ และกระทรวงการเกษตรของสหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการรัฐและผู้ว่าการเมืองหลัก รวมไปถึงผู้นำองค์กรธุรกิจที่สำคัญ โดยมีเนื้อความระบุว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ และมีบทบาทสำคัญในเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศ จึงขอเรียกร้องให้ทุกมลรัฐ ทุกเมือง มุ่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนกับไต้หวันในด้านต่างๆ ทั้งการค้า การศึกษา การลงทุนและการท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยึดถือค่านิยมร่วมระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ และสร้างโอกาสทางธุรกิจเพื่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์อย่างมีเสถียรภาพ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอขอบคุณสำหรับความสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งที่ 3 ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่กระตุ้นให้ทั่วทุกพื้นที่สหรัฐฯ และผู้นำองค์กรธุรกิจ ร่วมเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับไต้หวัน
 
โดยหนังสือข้างต้นทั้ง 3 ฉบับเป็นการลงนามร่วมกันของ Mr. Daniel Whitley ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารติดต่อประสานงานระหว่างประเทศของกระทรวงการเกษตร Mr. Arun Venkataraman ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพาณิชย์ ที่ดูแลตลาดโลก และ Mr.Daniel Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการเอเชีย - แปซิฟิก โดยเน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ และมีความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในด้านประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของสหรัฐฯ และเป็นผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของสหรัฐฯ อีกทั้งไต้หวันยังเป็นหนึ่งในสมาชิกโปรแกรมยกเว้นการขอวีซ่า (VWP) และโครงการ Global Entry ของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ จึงขอส่งเสริมให้ทุกฝ่ายร่วมส่งเสริมและขยายความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างกระตือรือร้น
 
หลายปีมานี้ นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ จะมีการไปมาหาสู่กันในระดับรัฐบาลกลางแล้ว การแลกเปลี่ยนในระดับรัฐบาลท้องถิ่นก็เป็นไปทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างมากขึ้น อันจะเห็นได้จากในช่วงปี พ.ศ. 2566 มีผู้ว่าการรัฐจากนิวเจอร์ซีย์ นิวเม็กซิโก มิชิแกน เวอร์จิเนีย แอริโซนาและมอนแทนา ทยอยเดินทางเยือนไต้หวันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งเฉพาะในปีนี้ ก็มีผู้ว่าการรัฐจากมิชิแกน เท็กซัสและไอดาโฮ ทยอยเดินทางมาเยือนไต้หวันเช่นกัน นอกจากนี้ ทุกมลรัฐในสหรัฐฯ ต่างได้ทยอยจัดตั้งหรือฟื้นฟูสำนักงานตัวแทนในไต้หวัน ซึ่งในปัจจุบัน มีสำนักงานตัวแทนจาก 23 รัฐของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในไต้หวัน รวมทั้งยังมีสำนักงานของเกาะกวมอีกหนึ่งแห่ง รวมเป็น 24 แห่ง
 
ไต้หวัน – สหรัฐฯ ต่างยึดมั่นในค่านิยมร่วมกัน และเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่มีจุดเด่นทางอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในอนาคต กต.ไต้หวันจะมุ่งผลักดันความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ผู้ประกอบการและองค์การเอกชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมุ่งส่งเสริมการขยายความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในทุกระดับชั้น ทุกประเด็นแบบข้ามแวดวงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป