New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 7 พ.ย. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวก่อนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อนายหลินซิ่นอี้ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท Taiwania Capital ที่รับหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุม AELM ภายใต้กรอบเอเปค (APEC) ประจำปีพ.ศ. 2567
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า หัวข้อการประชุมภายใต้กรอบเอเปคที่จัดขึ้นในเปรูประจำปีนี้ คือ “การส่งเสริมสิทธิอันชอบธรรม การยอมรับซึ่งกันและกัน การเติบโต” (Empower. Include. Grow.) โดยปธน.ไล่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นนายหลินฯ และสมาชิกคณะ นำเสนอข้อความสำคัญ 3 ประการที่ไต้หวันต้องการจะเผยแพร่ต่อที่ประชุม ได้แก่ “ไต้หวันมุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น” “การสนับสนุนความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ บนหลักการของความเป็นธรรมและการยอมรับซึ่งกันและกัน” รวมถึง “ความสมัครใจที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางการค้ารูปแบบดิจิทัลกับเขตเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ” พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ไต้หวันมีศักยภาพและมีความสมัครใจที่ต้องการจะสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาการค้ารูปแบบดิจิทัล เชื่อว่า ด้วยศักยภาพและประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของนายหลินฯ จะสามารถถ่ายทอดความคิดเห็นและมุมมองของไต้หวันให้แก่ตัวแทนของเขตเศรษฐกิจทั้งหลายได้อย่างชัดเจน
ข้อความสำคัญ 3 ประการข้างต้น มีสาระสำคัญโดยสังเขป ดังนี้ :
ประการแรก ไต้หวันมุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันมุ่งสร้างคุณประโยชน์ด้านเทคโนโลยี AI และการแพทย์รูปแบบดิจิทัล ให้แก่ประชาคมโลกอย่างขมักเขม้น โดยพวกเราจะมุ่งสร้างคุณประโยชน์เหล่านี้ต่อไป
ประการที่สอง การสนับสนุนความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ บนหลักการของความเป็นธรรมและการยอมรับซึ่งกันและกัน
APEC เฝ้าจับตาต่อการพัฒนาการค้าเสรีของโลกมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งครอบคลุมถึงผลกระทบที่มีต่อสิทธิของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงสถานการณ์ที่ทั่วโลกประสบกับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งหลายปีมานี้ APEC ได้มุ่งผลักดันการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) และการมีส่วนร่วมทางการค้า (inclusive trade) จึงขอให้นายหลินฯ แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนและการมุ่งอุทิศตนของไต้หวันเพื่อประชาคมโลก โดยไต้หวันมีความยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับหุ้นส่วน APEC ในการสรรสร้างความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎกติกาสากลที่มีความเป็นธรรมและมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมทางการค้า
ประการสุดท้าย ความสมัครใจที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางการค้ารูปแบบดิจิทัลกับเขตเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ
ในปัจจุบัน การค้าดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการค้าโดยรวมระหว่างเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ และไต้หวันก็มีความเชื่อมั่นว่า สามารถใช้ศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโลกได้
จากนั้นเป็นการกล่าวปราศรัยของนายหลินซิ่นอี้ โดยชี้ว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับความไว้วางใจจากปธน.ไล่ฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนผู้นำเพื่อเข้าร่วมการประชุม AELM โดยนายหลินฯ กล่าวว่า หลายปีมานี้ สถานการณ์โลกเกิดความผันผวนตลอดเวลา ประกอบกับมีตัวเร่งปฏิกิริยาอย่างปัจจัยทางการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ไต้หวันมีทั้งโอกาสและความท้าทายที่ต้องเผชิญมากมายในด้านเศรษฐกิจนานาชาติ นอกจากนี้ นายหลินฯ ยังชี้ว่า หลายปีมานี้ ไต้หวันให้ความร่วมมือกับ APEC ในการผลักดันแผนปฏิบัติการที่เปี่ยมประสิทธิภาพและได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยเฉพาะหลายปีมานี้ ไต้หวันมุ่งเผยแพร่ให้สมาชิกของเขตเศรษฐกิจต่างๆ ตระหนักถึงศักยภาพด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีดิจิทัลของไต้หวัน ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากแผนแม่บทด้านสุขภาพรูปแบบดิจิทัล รวมไปถึงการอุทิศคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้แก่ APEC
เพื่อขานรับหัวข้อการประชุมในปีนี้ คณะตัวแทนจะร่วมแบ่งปันกับกลุ่มเขตเศรษฐกิจในด้านประสบการณ์การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มสตรี กลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังจะร่วมแบ่งปันแนวทางการลดทอนความเสียหายและการสิ้นเปลืองอาหารด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตร รวมไปถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย NET ZERO ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ มีความเข้าใจต่อความสำคัญของการประสานความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวัน
ในช่วงท้าย นายหลินฯ ยังย้ำด้วยว่า ตนจะอาศัยโอกาสนี้ร่วมแลกเปลี่ยนกับตัวแทนผู้นำเขตเศรษฐกิจต่างๆ พร้อมแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า พวกเรายินดียึดมั่นในหลักการว่าด้วยการเอื้อประโยชน์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการทดแทนในส่วนที่ไม่สมบูรณ์ของกัน ในการประสานความร่วมมือกับประชาคมโลก เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่สำคัญในด้านการพัฒนาสันติภาพและเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไต้หวันเป็นสมาชิกของประชาคมโลกที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความดีงาม เชื่อถือได้ และมีความรับผิดชอบ อันจะนำไปสู่การได้รับเสียงสนับสนุนจากมิตรสหายระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นต่อไป