New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 13 พ.ย. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นางสาวเซียวเหม่ยฉิน รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสถาบันวิจัย Observer Research Foundation (ORF)” โดยรองปธน.เซียวฯ ได้กล่าวต้อนรับคณะตัวแทนที่เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในไต้หวัน พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทุกภาคส่วนมุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน และความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างไต้หวัน - อินเดีย ในอนาคตต่อไป
ในช่วงแรก รองปธน.เซียวฯ ในฐานะตัวแทนของผู้นำและรัฐบาลไต้หวัน ได้ให้การต้อนรับเหล่าอาคันตุกะที่เดินทางมาเยือนแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในไต้หวัน เพื่อร่วมอภิปรายแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน ระหว่างไต้หวัน – อินเดีย ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันในการแสวงหาความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพในระดับภูมิภาค
โดย รองปธน.เซียวฯ ชี้ว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นเกียรติอย่างมากที่ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสเดินทางเยือนอินเดียบ่อยครั้ง อีกทั้งยังเคยเข้าร่วม “การเสวนาเรซินา” (Raisina Dialogue) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไต้หวัน 2 ครั้ง พร้อมระบุว่า ตนรู้สึกประทับใจต่อวัฒนธรรมอินเดีย และคิดเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - อินเดีย มีศักยภาพทางความร่วมมือที่แฝงไว้อยู่มาก จึงคาดหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมร่วมแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคี ระหว่างสองฝ่ายในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วม “การประชุมเสวนาไต้หวัน - อินเดีย ครั้งที่ 3” ที่ร่วมจัดโดยสถาบันวิจัย ORF และ “มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย” (Taiwan-Asia Exchange Foundation, TAEF) แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของรัฐบาลไต้หวันที่ให้ความสำคัญ และความพร้อมในการมุ่งมั่นพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคี โดยนายเซียวซินหวง ประธาน TAEF Mr. Samir Saran ประธาน ORF และ Mr. Manharsinh Yadav ผู้อำนวยการสมาคมอินเดียในกรุงไทเป (ITA) ต่างก็เข้ามีส่วนร่วมในการอภิปรายเชิงลึกด้วย
รมช.เถียนฯ กล่าวว่า หลายปีมานี้ ภายใต้การผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อินเดีย ได้รับการพัฒนาที่ดีในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เทคโนโลยีและวัฒนธรรม รวมไปถึงการศึกษา ประกอบกับหลายปีมานี้ Mr. Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย ยังได้กล่าวถึงไต้หวันบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานร่วมกัน อีกทั้งยังมีการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขึ้นในเมืองมุมไบ เป็นต้น ประจวบกับในปีหน้านี้ (พ.ศ. 2568) เป็นวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลขึ้นในดินแดนระหว่างกัน อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันที่ตั้งรากฐานธุรกิจในอินเดียมากถึง 250 ราย จึงส่งผลให้การแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคี มีศักยภาพที่จะขยายตัวเพิ่มพูนขึ้นในอนาคต
รมช.เถียนฯ ย้ำว่า ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตย ไต้หวัน – อินเดียควรร่วมจับมือกันสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ และความท้าทายด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม 2568 ที่รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ รมช.เถียนฯ จึงขอใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ไต้หวัน สหรัฐฯ และอินเดีย เร่งเสริมสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคี นอกจากนี้ รมช.เถียนฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียสนับสนุนการฟื้นฟูเส้นทางบินตรงระหว่างไต้หวัน – อินเดีย ควบคู่ไปกับการร่วมพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนของกลุ่มเยาวชนคลังสมอง
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รมช.เถียนฯ ยังได้จัดเลี้ยงอาหารเพื่อต้อนรับคณะตัวแทนที่นำโดย Mr. Samir Saran พร้อมกล่าวว่า หลายปีมานี้ กต.ไต้หวันและ ITA ร่วมจัดเทศกาลแห่งแสงสว่าง (Diwali) ขึ้น ณ Taipei Guest House แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายที่นับวันยิ่งทวีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไต้หวันเป็นพลังแห่งความดีของโลก จึงยินดีที่จะสร้างคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้แก่ประชาคมโลกด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ “โครงการกองทุนสานฝันเยาวชนในต่างแดนมูลค่าหมื่นล้านเหรียญ” ที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้เยาวชนชาวไต้หวัน ก้าวสู่เวทีนานาชาติเพื่อการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นเจ้าหน้าที่ของอินเดียให้ความร่วมมือในการผลักดันโครงการนี้
อินเดียเป็นหุ้นส่วนสำคัญภายใต้ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ไต้หวันจะมุ่งส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือแบบทวิภาคีในด้านต่างๆ ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเจริญสัมพันธไมตรี ร่วมส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป