New Southbound Policy Portal

ก.สิ่งแวดล้อม (MOENV) และกต.ไต้หวัน (MOFA) ร่วมจัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านคาร์บอนเครดิต พร้อมเชิญให้ผู้ว่าฯ เกาสงเข้าร่วมการประชุม COP 29 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนโอกาสใหม่ของการลดก๊าซเรือนกระจกในเมือง

สำนักข่าว CNA และกระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 14 พ.ย. 67
 
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment , MOENV) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า เนื่องจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (UNFCCC COP 29) มีแนวโน้มที่จะมุ่งส่งเสริมตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ MOENV จึงมีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นการจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยความร่วมมือด้านคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศขึ้นในอนาคต เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศพันธมิตร ในการพัฒนาพลังงานสีเขียว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ไต้หวันได้รับคาร์บอนเครดิต ตลอดจนเพื่อสร้างโอกาสทางความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นในระดับนานาชาติ
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รมว.เผิงฯ นายเฉินฉีม่าย ผู้ว่าการนครเกาสง และนายฟ่านเจี้ยนเต๋อ ศาสตราจารย์หลักสูตรปริญญาโทในสาขาวิชากฎหมายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโลยีของมหาวิทยาลัยชิงหัว (National Tsing Hua University, NTHU) ที่ขณะนี้ได้เดินทางไปเยือนกรุงบากู ได้ร่วมหารือพูดคุยกันผ่านช่องทางออนไลน์
 
ศจ.ฟ่านฯ กล่าวว่า ไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ คือความตกลงปารีสในมาตราข้อ 6.4 มีโอกาสจะได้รับความเห็นชอบ ซึ่งจะมีการหารือเจรจารายละเอียดปลีกย่อยในช่วงครึ่งปีแรก พร้อมทดลองเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2568 โดยศจ.ฟ่านฯ เน้นย้ำว่า นี่อาจเป็นโอกาสของไต้หวันที่ภาคเอกชนจะเพิ่มลงทุนเพื่อขยายตลาดเข้าสู่ตลาดคาร์บอนระดับสากล
 
ผู้ว่าการเฉินฯ กล่าวว่า “แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านคาร์บอน” ที่มุ่งผลักดันโดยเทศบาลนครเกาสง ก็คือการใช้การลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ เป็นตัวนำให้ภาคเอกชนอัดฉีดงบประมาณเข้าลงทุนด้วยความสมัครใจ เพื่อเร่งประสิทธิภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นแนวทางที่มีความเป็นรูปธรรม
 
ผู้ว่าการเฉินฯ กล่าวอีกว่า ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในนครเกาสง ยังคงต้องพึ่งพาการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ การค้นพบแหล่งดูดซับตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่าคาร์บอน ซิงค์ (Carbon Sink) รวมไปถึงการค้นพบแหล่งพลังงานสีเขียว ในอนาคต หวังว่าจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศและได้รับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้เกาสงและไต้หวันมีโอกาสเข้าร่วมในเวทีนานาชาติมากขึ้น
 
รมว.เผิงฯ เห็นว่า นครเกาสงเป็นเมืองที่มีคุณสมบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด เนื่องจากมีแผนแม่บทที่ชัดเจน และเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีการเงินสีเขียว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนครเกาสง ก็ยังคงมีสัดส่วนที่สูงสุดของไต้หวัน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ
 
รมว.เผิงฯ ย้ำว่า นี่มิใช่เพียงประเด็นการซื้อคาร์บอนเครดิต เนื่องจากไต้หวันมีพื้นที่จำกัด พวกเราจึงหวังที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือกลุ่มประเทศพันธมิตร ในด้านการวิจัยและสร้างพลังงานหมุนเวียน โดยที่ไต้หวันก็จะสามารถได้รับคาร์บอนเครดิตไปในตัว ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้แก่ไต้หวันในอนาคตต่อไป
 
นอกจากนี้ “กองทุนใหม่ด้านนวัตกรรมการเงินสีเขียว” ที่รมว.เผิงฯ ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน คาดว่าจะจัดการชี้แจงต่อสาธารณชนภายในปลายเดือนนี้ ซึ่งกองทุนข้างต้นนี้มีโอกาสพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต โดยรมว.เผิงฯ ยังย้ำว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระทรวงเศรษฐการ คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้ประสานความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการมุ่งพิชิตเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
ศูนย์ข่าวกรองที่จัดตั้งโดย MOENV ซึ่งเข้าร่วมการประชุมรอบนอกของ UNFCCC COP 29 เริ่มต้นด้วยการแบ่งปันสถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุดของการประชุม COP 29 ซึ่งประกอบด้วย แถลงการณ์สำคัญของสุดยอดการประชุมแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศระดับผู้นำโลก สถานการณ์ความคืบหน้าของการพิชิตเป้าหมาย “การมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศ” (Nationally Determined Contributions, NDC) ภายในปีพ.ศ. 2578 และกิจกรรมภายใต้แคมเปญ NDC3.0 พร้อมนี้ยังได้รับข้อมูลรายงานงบประมาณคาร์บอนทั่วโลก (The Global Carbon Budget)  ประจำปี 2567 ที่ประกาศโดยมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) แห่งสหราชอาณาจักร โดยรายงานฉบับนี้ชี้แจงเกี่ยวกับสถิติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนานาประเทศ ควบคู่ไปกับการประเมินว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั่วโลก จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.8% ในปี 2567 แต่ยังไม่ถึงขั้นสูงสุด ในทางตรงกันข้าม รายงานข้างต้นได้รวบรวมปริมาณการใช้พลังงานของไต้หวัน ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้ม “การลดสัดส่วนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงปิโตรเลียม และการยกระดับของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์” อีกทั้งยังชี้ชัดว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ลดลงจากปีที่แล้ว 4.6% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของไต้หวัน
 
นอกจากนี้ ศจ.ฟ่านฯ ยังได้ร่วมแบ่งปันไฮไลท์สำคัญของการผลักดัน NDC 3.0 ในระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำว่า การประชุม COP 29 ในครั้งนี้ คาดว่ากลุ่มประเทศสมาชิกจะมีมติเห็นชอบต่อมาตราที่ 6 ที่ระบุไว้ในความตกลงปารีส ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในปีหน้านี้ คาดว่าจะก้าวสู่การเป็นแผนแม่บทด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการที่มุ่งผลักดันโดยเทศบาลนครเกาสง และแผนปฏิบัติการด้านการเงินสีเขียวที่มุ่งผลักดันโดยคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน ซึ่งล้วนแต่ขานรับต่อหัวใจสำคัญทางการเงินเพื่อการจัดตั้งกลไกทางสภาพอากาศ โดยหวังว่าในอนาคตจะขยายไปสู่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในเคหสถานและยานพาหนะต่อไป เพื่อมุ่งพิชิตเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในเร็ววัน
 
ผู้ว่าการเฉินฯ กล่าวว่า เพื่อพิชิตเป้าหมายการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศ (NDC) รัฐบาลส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องเร่งผลักดันดำเนินการภารกิจการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศด้วยความสมัครใจ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว ตลอดจนสร้างโอกาสความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร ภายใต้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ระบุไว้ในความตกลงปารีสของการประชุม COP 29 เพื่อเสริมสร้างการจัดตั้งระบบห่วงโซ่พลังงานสีเขียวและระบบห่วงโซ่พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่เมือง ควบคู่ไปกับการขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างเมืองใหญ่ ตลอดจนสร้างพื้นที่ความร่วมมือในระดับนานาชาติต่อไป
 
รมว.เผิงฯ เน้นย้ำว่า เพื่อบรรลุเป้าหมาย NET ZERO ภายในปี 2593 รัฐบาลกลางและรัฐบาลส่วนท้องถิ่นจึงได้จัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเข้าร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ โดย MOENV จะมุ่งจับทิศทางการพัฒนาและแนวโน้มระหว่างประเทศ ในระหว่างการประชุมรัฐภาคีในครั้งนี้ต่อไป
 
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์จนถึงมีนาคม 2567 MOENV และเครื่องบิน Douglas DC-8 และ Gulfstream III ซึ่งเป็นอากาศยานเพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) รวมถึงนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ ได้ร่วมเปิดฉากการทดลองและสังเกตการณ์คุณภาพอากาศรูปแบบ 3 มิติในพื้นที่เกาสง – ผิงตง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสารมลพิษทางอากาศในแนวดิ่งระดับ 200 – 800 เมตร รวมถึงผลการตรวจสอบฝุ่นละออง PM 2.5 พิษภัยของแก๊สโอโซนอย่าง O3 รวมไปถึงโอโซน สารตั้งต้นและสารเคมีที่มีศักยภาพสูง นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ได้มีการตรวจวัดความเข้มข้นของสารเคมี Perfluoro- and Polyfluorinated Alkyl Substances (PFAS) ในพื้นที่เกาสง - ผิงตง และชั้นบรรยากาศ ซึ่งผลปรากฎว่า อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลอดช่วงระยะที่ผ่านมา ของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
 
การตรวจวัดคุณภาพอากาศรูปแบบ 3 มิติในพื้นที่เกาสง – ผิงตง สามารถเป็นโครงการต้นแบบของการตรวจวัดคุณภาพอากาศในโครงการ South East Asian Studies (7-SEAS) ในปี 2568 ได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมแก้ไขคุณภาพอากศในพื้นที่เมืองหลักและระดับภูมิภาค ผ่านการประชุมอภิปรายกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการระดับนานาชาติ รวมทั้งการประสานความร่วมมือแบบข้ามพรมแดน ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพและเทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันได้รับความสนใจจากประชาคมโลกบนเวทีโลกนานาชาติต่อไป