New Southbound Policy Portal

ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มพันธมิตรความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างประเทศและศูนย์เกษตรเขตร้อนเดินทางเยือนไต้หวันเพื่อกระตุ้นการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร

กระทรวงการเกษตร วันที่ 18 พ.ย. 67
 
กระทรวงการเกษตร (Ministry of Agriculture, MOA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เชิญ Dr. Carlo Fadda ผู้อำนวยการของกลุ่มพันธมิตรความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างประเทศและศูนย์การเกษตรเขตร้อน (Alliance of Bioversity International and CIAT) และคณะผู้เชี่ยวชาญให้เดินทางมาเยือนไต้หวัน ในช่วงระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน 2567 เพื่อร่วมจัดการเสวนาเชิงลึกร่วมกับเจ้าหน้าที่จากภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาควิชาการด้านการเกษตรของไต้หวัน เพื่อร่วมสำรวจในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ ว่าจะสามารถส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของระบบห่วงโซ่อาหารได้อย่างไร รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตรที่ยกระดับจากระบบเมล็ดพันธุ์สู่ระบบการผลิต ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการเกษตรทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ที่มาเข้าร่วมการประชุม ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ทุกภาคส่วน เกี่ยวกับบทบาทของความหลากหลายทางชีวภาพ ในด้านการพัฒนาทางการเกษตรที่ยั่งยืนของทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ
 
MOA ชี้ว่า Alliance of Bioversity International and CIAT เป็นหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการที่ปรึกษาการวิจัยการเกษตรนานาชาติ (Consultative Group on International Agricultural Research, CGIAR) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านของระบบห่วงโซ่อาหารระดับสากล ผ่านการผลักดันการเกษตรแบบยั่งยืน และการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ โดย Dr. Fadda มุ่งเน้นการวิจัยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์พันธุ์กล้วย จีโนมิกส์ วนเกษตร ระบบภูมิปัญญาของชนพื้นเมือง และนโยบายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยความเชี่ยวชาญเหล่านี้ ล้วนแต่มีความสอดคล้องกับทิศทางการวิจัยและการพัฒนาของไต้หวันในปัจจุบัน
 
การเดินทางเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนผู้เชี่ยวชาญที่มี Dr. Fadda เป็นหัวหน้าคณะมีกำหนดการเข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแห่งชาติ (Academia Sinica) ศูนย์พืชผักโลก (World Vegetable Center, WorldVeg) และสถาบันวิจัยกล้วยไต้หวัน พร้อมทั้งร่วมหารือแลกเปลี่ยนในเชิงลึกกับหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการเกษตร เช่น สำนักอนุรักษ์น้ำและดินและการพัฒนาชุมชนเกษตร ศูนย์สาธิตการเกษตร ศูนย์สาธิตการป่าไม้ สถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ และศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมเขตเกาสง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ ว่าจะสามารถส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของระบบห่วงโซ่อาหารได้อย่างไร การส่งมอบความช่วยเหลือทางความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพแบบข้ามพรมแดน การประชาสัมพันธ์ความหลากหลายทางชีวภาพด้านการเกษตรของชุมชนที่เข้าร่วม และประสบการณ์การอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น โดยหวังว่าจะสามารถส่งเสริมการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่วิจัยทางเทคโนโลยี และเจ้าหน้าที่ร่างนโยบายภายในไต้หวัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อแนวโน้มความร่วมมือระหว่างประเทศ และทิศทางการพัฒนาในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปูรากฐานที่มั่นคงให้แก่ความร่วมมือแบบทวิภาคีและแบบพหุภาคีในภายภาคหน้า
 
MOA เน้นย้ำว่า ขณะนี้ ไต้หวันอยู่ระหว่างการมุ่งพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องหลายรายการ อาทิ การส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำการเกษตรแบบอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดระบบรายชื่อผลผลิตและกลไกการจำหน่าย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านเกษตรศึกษา รวมถึงการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการผลักดันความหลากหลายทางทรัพยากรป่าไม้ และการบูรณาการทรัพยากรในชุมชนเกษตร ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาทางการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ถือเป็นการวางรากฐานความร่วมมืออย่างมีเสถียรภาพในด้านความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องในภายภาคหน้า พร้อมทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนและการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายต่อไป