New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันนำคณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดรนไต้หวันเยือนลิทัวเนีย เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม และเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ของ imec ในเบลเยี่ยม

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 พ.ย. 67
 
เพื่อสำแดงศักยภาพด้านการวิจัย พัฒนาและผลิตอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่พันธมิตรด้านประชาธิปไตยในทวีปยุโรปและประชาคมโลก พร้อมผลักดันให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นฮับอุตสาหกรรมโดรนที่เป็นประชาธิปไตยในระดับสากล กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้มอบหมายให้สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) จัด “คณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดรนไต้หวัน” จำนวน 20 ราย เดินทางเยือนกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ในช่วงระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2567 โดยมีนายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นำทัพผู้ประกอบการด้วยตนเอง พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในทวีปยุโรป ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม ตลอดร่วมสร้างระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมโดรนที่เป็นประชาธิปไตยในระดับสากล

ในวงการเทคโนโลยีและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมโดรน และถือเป็นจุดสนใจของนานาประเทศทั่วโลก โดยหนึ่งในหลักการ “การทูตแบบบูรณาการ” ที่เสนอโดยรมว.หลินฯ คือการผสมผสานระหว่างข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีของไต้หวัน เพื่อช่วยพัฒนาระบบห่วงโซ่ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญในระดับสากล สะท้อนให้เห็นว่าไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านประชาธิปไตยโลก

จากการที่ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้และมีเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานด้านประชาธิปไตยโลก ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมโดรนที่เชื่อถือได้ รมว.หลินฯ จึงได้เชิญ “สหพันธ์ส่งเสริมโอกาสธุรกิจโดรนคุณภาพสูงของไต้หวันในต่างแดน” และ TAITRA ร่วมจัดคณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดรนชุดแรกเดินทางเยือนกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป
 
ไต้หวันมีระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก ชิปขั้นสูงมากกว่าร้อยละ 90 ถูกผลิตขึ้นในไต้หวัน จึงจะเห็นได้ว่า ไต้หวันสวมบทบาทที่ไม่สามารถขาดได้ในความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโลก โดยในระหว่างที่รมว.หลินฯ เดินทางเยือนยุโรป ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม “ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ imec (Interuniversity Microelectronics Centre) ซึ่งเป็นคลังสมองด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยรมว.หลินฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อ Dr. Luc Van den hove ประธานคณะกรรมการบริหาร imec ที่มาให้การต้อนรับด้วยตนเอง พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการแบ่งงานและการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันในระดับสากล
 
ไต้หวัน - imec ประสานความร่วมมือกันอย่างแนบแน่นมาเป็นเวลากว่า 20 ปี อันจะเห็นได้จากกรณีที่บริษัท TSMC และผู้ประกอบการด้านเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ที่มุ่งประสานความร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ในด้านการบ่มเพาะบุคลากร มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) มหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง (NYCU) มหาวิทยาลัยชิงหัว (NTHU) และมหาวิทยาลัยเฉิงกง (NCKU) ต่างร่วมจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับ imec ในด้านการฝึกงานของเหล่าดุษฎีบัณฑิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเพื่อแสวงหาบุคลากรที่มีคุณภาพจากกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม
 
ไต้หวันเชื่อมโยงกับประชาคมโลกผ่านแผ่นชิป เพื่อบรรลุภารกิจ “โครงการความหวังของประเทศชาติใน 8 มิติ” ตามนโยบาย “ประเทศที่ระบบเศรษฐกิจไม่มอดดับ” ที่เสนอโดยปธน.ไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน ด้วยการดำเนินภารกิจทางการทูตเชิงเศรษฐกิจและโครงการเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศพันธมิตร ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือ “ความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่เซมิคอนดักเตอร์” เมื่อเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์หยั่งรากลึกในไต้หวัน และมีการวางฐานการผลิตทั่วโลก ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพระดับประเทศของไต้หวัน

เมื่อเผชิญกับความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก ไต้หวันจะมุ่งธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคอย่างขมักเขม้น โดยรัฐบาลจะมุ่งยกระดับสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนอย่างกระตือรือร้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้มีเสถียรภาพ ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยโลก เพื่อสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมโลกที่มั่นคง แข็งแกร่งและทรหด
ต่อไป