New Southbound Policy Portal
กระทรวงสิ่งแวดล้อมและสำนักข่าว CNA วันที่ 20 พ.ย. 67
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 สโมสรการบริการทางการเงินโต๊ะกลมไต้หวัน (Taiwan Financial Service Roundtable, TFSR) ซึ่งเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินและคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน (FSC) ที่จัดตั้งขึ้นจากตัวแทนสมาชิก 138 คนของกลุ่มองค์กรสถาบันการเงิน 35 แห่ง ได้ลงนาม “ปฏิญญาสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมการเงิน” อย่างเป็นทางการ โดยมีนายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายเผิงจินหลง ประธานคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบทางการเงิน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อพิชิตเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET ZERO) ภายในปี พ.ศ. 2593 อุตสาหกรรมการผลิตจึงมุ่งยกระดับประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งมั่นผลักดันโครงการวิศวกรรมโยธาเพื่อการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างกระตือรือร้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
“ปฏิญญาสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมการเงิน” ระบุ 5 เป้าหมายหลักไว้อย่างชัดเจน ประการแรก อุตสาหกรรมการเงินจะขานรับแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมานย NET ZERO ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยจะมุ่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านแพลตฟอร์มการส่งเสริม NET ZERO ประการที่สอง อุตสาหกรรมการเงินจะขยายทิศทางการพัฒนาการเงินสีเขียวอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนนวัตกรรมคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรม ผ่านการจัดหาสินเชื่อ ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน พร้อมทั้งมุ่งบ่มเพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินที่ยั่งยืน ตลอดจนเปิดเผยแผนแม่บทด้านการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ประการที่สาม เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อุตสาหกรรมการเงินจะขานรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านทางการเงินระหว่างประเทศอย่างกระตือรือร้น พร้อมจัดตั้งกลไกการบริการทางการเงินที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคม ประการที่สี่ อุตสาหกรรมการเงินจะประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีของไต้หวัน ผนวกเข้ากับเทคโนโลยี AI และ Blockchain เพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาทางเทคโนโลยีการเงินสีเขียว ร่วมกับศักยภาพด้านนวัตกรรม ทั้งนี้ เพื่อเร่งยกระดับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเงินสีเขียว และประการสุดท้าย อุตสาหกรรมการเงินจะคำนึงถึงความรับผิดชอบทางสังคมและบรรษัทภิบาล ให้การสนับสนุนกิจกรรมการกุศลของภาคประชาสังคม โดยในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมเก็บขยะตามริมชายหาด เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แผนปฏิบัติการจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นไปในรูปแบบปลอดกระดาษ
กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ประกาศอัตราการจัดเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) โดยอัตราการเก็บภาษีคาร์บอนในปีแรกอยู่ที่ 300 เหรียญไต้หวันต่อคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) 1 ตัน ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีจำเป็นต้องอ้างอิงประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 100 เหรียญไต้หวันต่อ CO2e 1 ตันและ 50 เหรียญไต้หวันต่อ CO2e 1 ตัน
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันได้มุ่งผลักดัน “โครงการความหวังของชาติ” เพื่อเร่งพิชิตเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (NDC) และคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน (FSC) จึงได้เร่งผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการลงทุนของกองทุนประกันชีวิต ผ่านโครงการลงทุนมูลค่าล้านล้านเหรียญไต้หวัน พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการร่วมลงทุนเพื่อมุ่งผลักดันโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
นายเผิงจินหลง กล่าวขณะปราศรัยว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างช่วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (UNFCCC COP 29) จากกระแสโลกที่ทุกภาคส่วนต่างเฝ้าจับตาอยู่ขณะนี้ ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ทั่วโลกตระหนักว่าปัญหาสภาพแวดล้อม เป็นความรับผิดชอบร่วมกันในระดับสากล
นายเผิงจินหลง กล่าวว่า ปฏิญญาในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งคำมั่นสัญญาเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดย FSC จะมุ่งให้การสนับสนุนผ่านการเสนอนโยบาย ควบคู่ไปกับการบูรณาการทรัพยากร โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมการเงินจะกำหนดให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายระยะยาว เพื่อร่วมสร้างตลาดการเงินที่เปี่ยมด้วยความทรหดและศักยภาพการแข่งขัน ตลอดจนมุ่งสู่ทิศทางในอนาคตต่อไป