New Southbound Policy Portal

เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวันตระเวณจัดแสดงใน 3 เมืองของลิทัวเนีย

กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 21 พ.ย. 67
 
เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน (Taiwan on Screen)  ซึ่งเริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2566 จากความร่วมมือระหว่างฝ่ายกิจการวัฒนธรรมของสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำเยอรมนี และศูนย์ศิลปะอาเซียน (Asian Art Centre) ของลิทัวเนีย ประสบความสำเร็จในการดึงดูดประชาชนชาวลิทัวเนียที่เข้าชมนับพันราย โดยปีนี้เป็นปีที่ 2 ของการจัดเทศกาลนี้ ซึ่งยังคงมีกำหนดการจัดแสดงที่กรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย และเมืองเกานัส เช่นเดิม แต่ในปีนี้จะมีการเปิดฉายในหอภาพยนตร์ ArleKinas ที่ตั้งอยู่ในเมืองเกล็ยเปดา ที่เป็นเมืองท่าของลิทัวเนียด้วย
 
“เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน” มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ หอภาพยนตร์ Skalvija ที่ตั้งอยู่ในกรุงวิลนีอุส โดยมีภาพยนตร์แนวตลกสยองขวัญเรื่อง “Dead Talents Society” ของสวีฮั่นเฉียง ผู้กำกับชาวไต้หวัน เป็นภาพยนตร์เปิดเทศกาล โดยหลังจากเสร็จสิ้นการฉายภาพยนตร์ ก็ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยน ระหว่างผู้กำกับและผู้ชม ซึ่งเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันจะจัดไปจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2567 โดยจะเปิดฉายภาพยนตร์รวม 10 เรื่องตลอดเทศกาล ทั้งในกรุงวิลนีอุส เมืองเกานัส และเมืองเกล็ยเปดา
 
สำหรับรายชื่อภาพยนตร์ที่จะเปิดฉายในปีนี้ ประกอบด้วยภาพยนตร์ที่มีการนำเสนอเอกลักษณ์ของไต้หวันในเชิงลึก เช่น “Detention” “Old Fox” “Love Is a Gun” “Salli” “Classmates Minus” “Untold Herstory” และภาพยนตร์แนวการ์ตูนแอนิเมชัน เช่น “Grandma and Her Ghosts” “On Happiness Road” และภาพยนตร์สารคดีเรื่อง“Island of People” โดยเหล่าผู้กำกับภาพยนตร์ เช่น สวีฮั่นเฉียง หวังเสี่ยวตี้ และเซียวหย่าเฉวียน ต่างก็ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการถ่ายทำและแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงเรื่องราวในฉากหลัง เพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ หลังการฉายภาพยนตร์จบ ผ่านรูปแบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์
 
นางเยี่ยเหว่ยหนี หัวหน้าฝ่ายกิจการวัฒนธรรมประจำสำนักงานตัวแทนไต้หวันในเยอรมนีเห็นว่า หลังจากเทศกาลภาพยนตร์ไต้หวันถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกก็ได้รับความสนใจจากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งลิทัวเนีย (LRT) และสื่อข่าวออนไลน์ “15 min.It” ที่รายงานข่าวการจัดงานอย่างคึกคัก โดยภาพยนตร์ที่เปิดฉายในเทศกาลครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ สามารถสัมผัสกับเสน่ห์ของไต้หวันแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนียอีกด้วย ทั้งนี้ จากความผันผวนของสภาพการเมืองและเศรษฐกิจโลก ทำให้ไต้หวันกลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญในระดับสากลในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมของไต้หวันได้รับความสนใจและความสำคัญจากทุกฝ่ายเป็นอย่างมาก