New Southbound Policy Portal
กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 26 พ.ย. 67
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOENV) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายอู๋เฉิงเหวิน ผู้อำนวยการ “ศูนย์อวกาศแห่งชาติไต้หวัน” (TASA) และนายโจวจิ่งหยาง อธิการบดีมหาวิทยาลัยจงยาง (NCU) ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการประยุกต์ใช้ดาวเทียมในกลไกการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม และการเฝ้าสังเกตการณ์ปรากฏการณ์เรือนกระจก รวมถึงความตกลงว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อต้องการส่งดาวเทียมการตรวจวัดมลพิษทางอากาศของไต้หวัน และการส่งเสริมเครือข่ายการตรวจวัดระหว่างประเทศ ผ่านการประสานความร่วมมือระหว่าง TASA – NCU อันจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีและศักยภาพการตรวจวัดของไต้หวัน เพื่อที่ในอนาคตจะสามารถตรวจจับการแพร่กระจายตัวของมลพิษในอากาศจากต่างประเทศและภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางปริภูมิ – เวลาของปรากฎการณ์เรือนกระจกในไต้หวันและภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งจะสามารถแจ้งเตือนการเกิดมลพิษทางอากาศแบบล่วงหน้า ซึ่งข้อมูลสถิติทางเทคโนโลยียังสามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลการตรวจวัดยังสามารถแบ่งปันให้แก่นานาประเทศทั่วโลก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในระดับภูมิภาคและก้าวสู่การเป็นผู้บุกเบิกในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก
MOENV แถลงว่า เพื่อรับมือกับแผนปฏิบัติการสู่อนาคตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามโครงการความหวังของประเทศชาติ MOENV จึงได้ประสานความร่วมมือกับ TASA เพื่อส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการประยุกต์ใช้ดาวเทียมในแวดวงสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ สำนักงานด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแห่งองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency, ESA) ระบุว่า การตรวจวัดผ่านดาวเทียม ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจสอบที่เปี่ยมประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถใช้ในการทบทวนข้อมูลสถิติด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปรียบเทียบข้อมูลการตรวจวัดที่ได้รับการจดบันทึก อีกทั้งยังสามารถระบุแหล่งพิกัดที่เป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนยังสามารถส่งมอบข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานในการกำหนดนโยบายทางสภาพภูมิอากาศ
เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศรายรอบ นอกจากนี้ MOENV และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) ยังได้ประสานความร่วมมือกันในการประเมินการจัดส่งดาวเทียมที่มีวงโคจรสัมพันธ์กับโลกเพื่อตรวจวัดมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ โดยส่งมอบข้อมูลการตรวจวัดด้วยความละเอียดคมชัดสูงในเวลา 10 นาที ทั้งนี้ เพื่อยกระดับเทคโนโลยีสารสนเทศ การควบคุมระยะไกล การแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบล่วงหน้าและการตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงของมลพิษทางอากาศแบบเรียลไทม์ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครอบคลุมพื้นที่ในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันของไต้หวันในระดับสากล
MOENV แถลงว่า ศูนย์เทคโนโลยีตรวจวัดสภาพแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยจงยาง (Center for Environmental Monitoring and Technology, CEMT) จัดตั้งขึ้นภายใต้การประสานความร่วมมือมาเป็นระยะเวลานาน ระหว่าง MOENV และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (USEPA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายเครือข่ายระบบตรวจสอบการรั่วไหลของสารปรอท (Asia-Pacific Mercury Monitoring Network, APMMN) โดยสถาบันแห่งนี้ได้นำเข้าและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงด้านการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมและการส่งมอบข้อมูลการประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลการสังเกตการณ์ที่ได้จากการควบคุมระยะไกลของดาวเทียม เครือข่ายการตรวจวัดด้วยเรดาร์ตามหลักการ Micro Pulse Technology (MPLNET) เครือข่ายสังเกตการณ์ละอองลอยอัตโนมัติ (AErosol RObotic NETwork, AERONET) ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความแม่นยำของการสังเกตการณ์ผ่านดาวเทียม