New Southbound Policy Portal

กรมการท่องเที่ยวจัดการประชุมเสวนาด้านการพัฒนาธุรกิจที่พักแรมที่ยั่งยืนขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อนำผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หวังยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไต้หวัน

กรมการท่องเที่ยว วันที่ 27 พ.ย. 67
 
เพื่อขานรับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 กรมการท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัดหลักสูตรอบรมสัมมนาสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่พักแรมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้มีการจัด “การประชุมเสวนาด้านการพัฒนาธุรกิจที่พักแรมที่ยั่งยืน” ขึ้น ณ โรงแรม Taipei Marriott Hotel กรุงไทเป เพื่อร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการสำรวจแนวทางการปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิดหลัก 3 มิติ ประกอบด้วย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” “ความก้าวหน้า” และ “การบรรจบกัน” ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ประกอบการธุรกิจที่พักแรม เจ้าหน้าที่เทศบาลท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับร้อยคน ให้ความสนใจเข้าร่วม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่พักแรมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไต้หวัน
 
นายโจวหย่งฮุย อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า อุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก ถือเป็นหัวขบวนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งสวมบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากจะให้บริการด้านที่พักแรมแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงการบริการด้านอาหาร เครื่องดื่มและโปรแกรมการท่องเที่ยวสุดพิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องก้าวทันกระแสโลกในยุคปัจจุบัน การประชุมเสวนาในครั้งนี้ได้รวบรวมผู้บรรยายที่เป็นบุคคลสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมและวิชาการ รวมทั้งสิ้น 7 คน โดยมุ่งเน้นไปที่แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โอกาสธุรกิจใหม่และประเด็นที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการสืบสานหัวใจสำคัญของหลักสูตรบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ เพื่อร่วมหารือและสำรวจเป้าหมายหลัก กลไกและแนวทางการพัฒนา ที่เป็นมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล ผ่านการร่วมแลกเปลี่ยนและสนทนากับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหากลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
 
ประเด็นการเสวนาในช่วงเช้า มุ่งเน้นไปที่ “แนวคิดรูปแบบใหม่และแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”  ไช่เหวินอี๋ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการออกแบบชุมชนในไต้หวัน  (Creative Tourism and Community Design Association in Taiwan) แบ่งปันว่า ไต้หวันมีความต้องการที่พักแรมที่สอดคล้องตามมาตรฐาน ESG ระดับสากล และการออกแบบเชิงนิเวศวิทยา พร้อมทั้งตอบรับกระแสการท่องเที่ยวของกลุ่มคน Gen Z เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ไร้ซึ่งขีดจำกัด Ms. Irene Wu รองผู้จัดการบริษัท PricewaterhouseCoopers Sustainability Services Company, Ltd. มุ่งเน้นไปที่แผนแม่บททางการค้ารูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนของโรงแรมที่มีขอบเขตกว้างขวาง พร้อมชี้แจงแนวทางการเรียบเรียงรายงานว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกรอบโครงสร้างระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณค่าของแบรนด์และการประสานงานของกลุ่มผู้ประกอบการที่ยั่งยืน ซึ่งนอกเหนือจากที่พักแรมแล้ว การคมนาคมยังเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดย ศาสตราจารย์ ดร.ฝงเจิ้งหมิน มหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง ได้ร่วมแบ่งปันความสำคัญของ “การขนส่งแบบคาร์บอนต่ำ” โดยระบุว่า ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้ยานพาหนะสีเขียวและพลังงานทดแทน จัดตั้งกลยุทธ์ทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน
 
ส่วนประเด็นการเสวนาในช่วงบ่ายได้แก่ “การรับรองการพัฒนาธุรกิจที่พักแรมที่ยั่งยืน” โดยมีนางเฉินอิ๋งเจี๋ย นายกสมาคมการเดินทางอย่างยั่งยืนแห่งไต้หวัน ( Sustainable Travel Taiwan) นำพาผู้ประกอบการเข้าสำรวจมาตรฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ ผ่านกฎระเบียบด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในระดับสากลที่กำหนดโดยสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลก (Global Sustainable Tourism Council, GSTC) พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักแรม ทุ่มเทในภารกิจ 3 มิติ ได้แก่ การบริหาร วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนเน้นย้ำแนวคิดค่านิยมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบถาวร ที่ไม่จำกัดมุมมองเพียงเฉพาะประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น
 
ในอนาคต กรมการท่องเที่ยวจะนำพาผู้ประกอบการธุรกิจที่พักแรม ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านความยั่งยืนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผสมผสานเข้ากับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การก่อเกิดฉันทามติในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่พักแรม ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการแข่งขันทางการตลาด โดยกรมการท่องเที่ยวไต้หวันจะมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอเครื่องหมายหรือใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดคาร์บอนและประหยัดพลังงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการอัดฉีดเงินอุดหนุนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายในการยื่นขอ และสูงสุดไม่เกิน 100,000 เหรียญไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อต้องการจับมือกับผู้ประกอบการในการสร้างสภาพแวดล้อมทางการท่องเที่ยวในรูปแบบคาร์บอนต่ำ