New Southbound Policy Portal

สุนทรพจน์ของปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก่อนออกเดินทางเยือนประเทศพันธมิตร ตามภารกิจใน “แผนสร้างความเจริญรุ่งเรืองในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียน มุ่งสู่ความยั่งยืนอัจฉริยะ”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 2 ธ.ค. 67
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ออกเดินทางเยือนประเทศพันธมิตรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วย หมู่เกาะมาร์แชลล์ ตูวาลูและปาเลา ตามภารกิจใน “แผนสร้างความเจริญรุ่งเรืองในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียน มุ่งสู่ความยั่งยืนอัจฉริยะ” เป็นระยะเวลา 7 วัน 6 คืน ก่อนออกเดินทาง ปธน.ไล่ฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยตั้งเป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้ไว้ 3 ประการ ได้แก่ “ความยั่งยืนในรูปแบบอัจฉริยะ” “ความยั่งยืนด้านประชาธิปไตย” และ “ความยั่งยืนด้านมิตรภาพระหว่างประเทศพันธมิตร” เพื่อขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานค่านิยมด้านประชาธิปไตย สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนในเชิงลึก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกประจักษ์เห็นถึงความเป็นต้นแบบด้านประชาธิปไตยของไต้หวัน และการเป็นหัวแรงสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองในระดับสากล
 
ในช่วงแรก ปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่คณะตัวแทนไต้หวัน ด้วยการยึดมั่นตามหลักการ “ความมั่นคง ศักดิ์ศรี ความเหมาะสมและความสะดวก” พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเป้าหมาย 3 มิติที่ได้ระบุไว้ในข้างต้น

ประการแรก : ความยั่งยืนด้านอัจฉริยะ” สถานการณ์โลกในปัจจุบันพลิกผันไปอย่างรวดเร็ว ไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตรต่างต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งไต้หวันไต้หวันควรเดินหน้าเข้าสู่เวทีโลกอย่างเต็มกำลัง พร้อมทั้งสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศพันธมิตรของเรา เพื่อพัฒนากลไกรับมือที่ยืดหยุ่น และช่วยให้ทุกประเทศสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปได้
 
ประการที่สอง : “ความยั่งยืนด้านประชาธิปไตย” 3 ประเทศพันธมิตรข้างต้นต่างก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์วัฒนธรรมออสโตรนีเซียน จึงส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัน เปรียบดังเป็นสมาชิกในครอบครัว ที่นอกจากจะส่งมอบความช่วยเหลือกัน ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดแล้ว ยังได้ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างหนักแน่น โดยปธน.ไล่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือกับกลุ่มประเทศออสโตรนีเซียน ร่วมแสดงให้ประชาคมโลกประจักษ์เห็นถึงการธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตย เพื่อความก้าวหน้าบนเส้นทางแห่งประชาธิปไตยต่อไป
 
ประการสุดท้าย : “ความยั่งยืนด้านมิตรภาพ” ในปีนี้ ไต้หวัน - หมู่เกาะมาร์แชลล์ ตูวาลูและปาเลา ต่างทยอยจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 26 ปี 45 ปี และ25 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยปธน.ไล่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะแสวงหาโอกาสทางความร่วมมือ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างและยกระดับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างกัน ผ่านการเยือนแลกเปลี่ยนและการเสวนาร่วมกันในครั้งนี้
 
รัฐฮาวายคือสถานีแรกของการเดินทางเยือนประเทศพันธมิตร ตามภารกิจใน “แผนสร้างความเจริญรุ่งเรืองในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียน มุ่งสู่ความยั่งยืนอัจฉริยะ” ซึ่งคณะตัวแทนได้เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติแดเนียล เค. อิโนเอ ที่ตั้งอยู่ในเมืองโฮโนลูลู ในช่วงเช้าของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่น หรือในช่วงรุ่งสางของวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ตามเวลาในไต้หวัน
 
โดยมัคคุเทศก์ของพิพิธภัณฑ์ Bishop Museum ได้นำ ปธน.ไล่ฯ ได้เข้าเยี่ยมชมห้องนิทรรศการจัดแสดงแผนที่มหาสมุทรแปซิฟิก คูหาจัดแสดงสมบัติชนพื้นเมืองไต้หวัน และแผนที่การอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียนในทวีปโอเชียเนีย รวมถึงห้องแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 โดยในจำนวนนี้ ผลงานภาพวาดจิตรกรรมบนพื้นในห้องนิทรรศการมหาสมุทรแปซิฟิก สามารถพบเห็นสัญญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงตำแหน่งที่ตั้งของไต้หวัน ตลอดจนนำเสนอมรดกทางภูมิปัญญาของกลุ่มชนเผ่าไท่หย่าและผายวัน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งของกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียน ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก
 
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ตามเวลาท้องถิ่น ปธน.ไล่ฯ ยังได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์รับมือภัยพิบัติฉุกเฉิน (HI-EMA) และอนุสาวรีย์เรือรบหลวงแอริโซน่า (USS Arizona Memorial) แห่งรัฐฮาวาย อีกทั้งในช่วงค่ำของวันเดียวกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดขึ้นโดยมิตรสหายชาวสหรัฐฯ และชาวจีนโพ้นทะเลที่พำนักอยู่ในเมืองโฮโนลูลู โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อมิตรสหายชาวจีนโพ้นทะเล ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันบนเวทีนานาชาติอย่างเต็มที่ พร้อมกล่าวว่า ประชาธิปไตยของไต้หวันถือเป็นต้นแบบของประชาคมโลก เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาของโลกให้ก้าวขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่ง ซึ่งปธน.ไล่ฯ เชื่อว่า เพียงพวกเรามีความสามัคคี ก็จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนานาประการ และได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้นด้วย
 
ปธน.ไล่ฯ เห็นว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับมอบธงชาติสหรัฐฯ และธงประจำรัฐฮาวายจากที่ประชุมเทศบาลฮาวาย ในฐานะตัวแทนของประชาชนไต้หวัน สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าและความหมายที่สำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งดุจหินผา อีกทั้งยังเป็นการปูรากฐานความร่วมมืออีกขั้นในอนาคต โดยในระหว่างการเยือนรัฐฮาวาย ปธน.ไล่ฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชมอนุสาวรีย์เรือรบหลวงแอริโซน่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้พวกเราตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพ ไม่มีผู้ชนะที่แท้จริงในสงคราม
 
ในระหว่างนี้ Ms. Ingrid Larson ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอเมริกาในไต้หวันแห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ให้การต้อนรับปธน.ไล่ฯ และคณะตัวแทนด้วยตนเอง พร้อมเน้นย้ำว่า นี่เป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับไต้หวันในเชิงลึกยิ่งขึ้น ตลอดที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันบนเวทีนานาชาติเสมอมา พร้อมทั้งส่งเสริมให้นานาประเทศทั่วโลกเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับไต้หวัน และให้การสนับสนุนไต้หวันในการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมาย ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกได้รับอานิสงส์จากความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของไต้หวัน และเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกในปัจจุบัน ตลอดจนเพื่อร่วมผลักดันความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก
 
Ms. Sylvia Luke รองผู้ว่าการรัฐฮาวาย กล่าวว่า ไต้หวัน – รัฐฮาวายผูกสัมพันธ์เป็นเมืองพี่น้องระหว่างกันมาเป็นระยะเวลากว่า 31 ปี ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีเป็นไปอย่างแนบแน่น นอกจากจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียนเช่นเดียวกัน จึงกลายเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน