New Southbound Policy Portal

ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมจัดการประชุมหารือด้านนโยบายกับคลังสมอง East-West Center (EWC) ในระหว่างการแวะเยือนรัฐฮาวาย

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 2 ธ.ค. 67
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่นในรัฐฮาวายของสหรัฐฯ หรือช่วงเช้าของวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ตามเวลาในไต้หวัน ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับเชิญให้เดินทางเยือนคลังสมอง East-West Center (EWC) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและหารือกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ
 
ปธน.ไล่ฯ ได้กล่าวขอบคุณ Ms. Suzanne Vares-Lum ผู้อำนวยการคลังสมอง EWC ที่มุ่งมั่นเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนชาวสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับไต้หวัน ในการจัด “โครงการฝึกอบรมผู้นำเยาวชนของกลุ่มประเทศมหาสมุทรแปซิฟิก” เพื่อบ่มเพาะบุคลากรเมล็ดพันธุ์ที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก จำนวน 200 กว่าคน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการร่วมส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไป
 
ปธน.ไล่ฯ แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันตามหลักการ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ประการ” เพื่อส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความร่วมมือ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับข้อตกลงฉบับแรกภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าแห่งศตวรรษที่ 21” นอกจากจะเปิดโอกาสความร่วมมือรูปแบบใหม่แล้ว ยังเป็นแนวทางการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทานและการเก็บภาษีซ้ำซ้อนอีกด้วย
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษในการประชุมแบบปิด ในหัวข้อ “อนาคตที่ร่วมสร้างความเจริญรุ่งเรือง : ไต้หวันในฐานะหุ้นส่วนเชิงสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” โดยปธน.ไล่ฯ ได้เน้นย้ำ “แผนปฏิบัติการ 3 ประการ” ที่ไต้หวันอุทิศคุณประโยชน์ต่อภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและทั่วโลก
 
ประการแรก ไต้หวันมุ่งปฏิบัติภารกิจตาม “แผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพใน 4 มิติ” อันประกอบด้วย การเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหม การจัดตั้งกลไกความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางประชาธิปไตย และการกระตุ้นการเสวนาแลกเปลี่ยน ซึ่งตลอดที่ผ่านมา ไต้หวันมุ่งสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหม ยกระดับความยืดหยุ่นในการปกป้องของภาคประชาสังคม ควบคู่ไปกับการจัดตั้ง  “คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องของภาคประชาสังคม” ภายใต้ทำเนียบประธานาธิบดี หลายปีมานี้ ความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องความมั่นคงของตัวเองตามที่ไต้หวันได้เคยให้คำมั่นไว้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงคำมั่นร่วมกันที่ไต้หวัน - สหรัฐฯ มีต่อสันติภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
 
ประการที่สอง ไต้หวันมุ่งสร้างคุณประโยชน์ในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ นอกจากความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ จะเป็นการเสริมสร้างข้อได้เปรียบของอุตสาหกรรมเหล่านี้แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อถือและพึ่งพาได้ของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ไต้หวันจะยังคงมุ่งประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างกระตือรือร้น เพื่ออุทิศคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาระดับโลก ด้วยการอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของตนเอง
 
ประการสุดท้าย ไต้หวันมุ่งมั่นสร้างหลักประกันด้านสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งนอกจากจะปฏิบัติตามคำมั่นในการสร้างความร่วมมือที่โปร่งใสในด้านต่างๆ เช่น สาธารณสุข การเกษตร การปศุสัตว์และการประมง อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตรในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อพิชิตเป้าหมายความยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่ “ความยั่งยืนแบบอัจฉริยะ” “ความยั่งยืนด้านประชาธิปไตย” และ “ความยั่งยืนในมิตรภาพระหว่างประเทศพันธมิตร” พร้อมกันนี้ ไต้หวันยังจะมุ่งเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างแนบแน่น ตลอดจนธำรงรักษาค่านิยมสากลด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม บนพื้นฐานของค่านิยมร่วมที่ว่า “ศักยภาพนำมาซึ่งสันติภาพ”