New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 3 ธ.ค. 67
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางถึงหมู่เกาะมาร์แชลล์ ตามภารกิจใน “แผนสร้างความเจริญรุ่งเรืองในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียน มุ่งสู่ความยั่งยืนอัจฉริยะ” โดยปธน.ไล่ฯ ได้เข้าร่วมหารือกับ H.E. Hilda C. Heine ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ และคณะรัฐมนตรี โดยหวังที่จะประสานความร่วมมือกับหมู่เกาะมาร์แชลล์ในการเผชิญกับความท้าทายนานาประการบนเวทีนานาชาติ พร้อมทั้งสร้างผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือที่เพิ่มพูนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศในเชิงลึกต่อไป
เริ่มต้น ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า พวกเราขอแสดงความขอบคุณต่อปธน. Heine ที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันบนเวทีนานาชาติ อย่าง “การประชุมสุดยอด Pacific Islands Forum (PIF)” ที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคม หรือการประชุมสหประชาชาติที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน รวมไปถึงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (UNFCCC COP 29) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567
หลายปีมานี้ ไต้หวัน – หมู่เกาะมาร์แชลล์ ร่วมวางรากฐานความร่วมมืออันแน่นแฟ้นระหว่างกัน ไม่ว่าจะในด้านการส่งเสริมศักยภาพสตรี หรือการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นในภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อมุ่งเสริมสร้างให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในเชิงลึก
ปธน. Heine กล่าวขณะปราศรัยว่า การเดินทางเยือนของปธน.ไล่ฯ ในครั้งนี้ เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่แข็งแกร่งของสองประเทศ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 26 ปี ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยทั้งสองฝ่ายต่างหวังที่จะมุ่งสร้างความสัมพันธ์ในทิศทางเชิงลึกต่อไป ปธน. Heine เน้นย้ำว่า รัฐบาลสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์จะยังคงเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของไต้หวันต่อไป และจะร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในสหประชาติ (UN) และองค์การระหว่างประเทศอย่างหนักแน่นต่อไป
ในโอกาสนี้ ปธน.ไล่ฯ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงสุนทรพจน์ในรัฐสภาหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ :
เริ่มต้น ปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อการส่งมอบคำเชิญของ Mr. Brenson Wase ประธานรัฐสภาหมู่เกาะมาร์แชลล์ พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลหมู่เกาะมาร์แชลล์ สำหรับการให้ความสำคัญและการสนับสนุนที่มีต่อสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) อย่างหนักแน่นเสมอมาไม่เสื่อมคลาย
ในช่วงหลายปีมานี้ คณะผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีของไต้หวันได้จัดตั้งหลักสูตรฝึกอบรมการปลูกพืชผักสวนครัว และฟาร์มปศุสัตว์ ควบคู่ไปกับการผลักดันโปรแกรมโภชนาการ และการศึกษาด้านการเกษตรและอาหาร โดยในปีหน้า พวกเราจะช่วยจัดตั้งโรงฆ่าสุกร เพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาหารของหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งโครงการข้างต้นเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการส่งมอบกลไกการดูแลให้แก่ภาคประชาชนร่วมกันอย่างจริงใจ ระหว่างไต้หวัน – หมู่เกาะมาร์แชลล์
นอกจากนี้ ปธน.ไล่ฯ และคณะตัวแทนยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีตัดรับบิ้นเพื่อเปิด “ศูนย์เทคโนโลยี AI และการแพทย์ทางไกล” ในโรงพยาบาลมาจูโร ที่ตั้งอยู่ในกรุงมาจูโร เมืองหลวงของหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งสถานที่แห่งนี้จะเป็นฐานต้นแบบการแพทย์อัจฉริยะ โดยปธน.ไล่ฯ ได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต้นแบบอุปกรณ์การแพทย์ทางไกล ภายใต้การนำของ ดร.เฉินจื้อหัว รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล Shuang Ho Hospital เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ของคณะผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที้ ในการยกระดับสวัสดิการทางสุขภาพ พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้แวะเยี่ยมชม “ตลาดนัดที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ระหว่างหมู่เกาะมาร์แชลล์ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไต้หวันในหมู่เกาะมาร์แชลล์” โดยได้ร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นกันเองกับพ่อค้าแม่ค้าและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้บรรยากาศดำเนินไปอย่างคึกคัก ในอนาคต หลังจากที่อาคารที่ทำการรัฐบาลหมู่เกาะมารแชลล์ ก่อตั้งแล้วเสร็จลงจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางกรุงมาจูโร ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคเหล่านี้ นับเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างสองประเทศ ตลอดจนยังเป็นการสร้างความผาสุกให้แก่ภาคประชาชน ให้ได้รับการดูแลและการบริการที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ไต้หวัน – หมู่เกาะมาร์แชลล์ ต่างก็เป็นประเทศที่แวดล้อมไปด้วยมหาสมุทร พวกเราตระหนักดีถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงทางการคมนาคมขนส่งทางอากาศ และเข้าใจดีเกี่ยวกับปัญหาความทรุดโทรมของอากาศยานที่สายการบินของมาร์แชลล์กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้การผลักดันอย่างกระตือรือร้นของปธน. Heine , Mr.Kalani Kaneko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ Mr. Wase ไต้หวันยินดีเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้สายการบินของหมู่เกาะมาร์แชลล์ สามารถนำไปจัดซื้ออากาศยานลำใหม่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขการให้บริการของสายการบิน
พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้ร่วมแสดงความยินดีกับหมู่เกาะมาร์แชลล์ ที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” ปธน.ไล่ฯ เชื่อว่า ทั้งสองประเทศนอกจากจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกในด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว พวกเรายังจะสามารถอุทิศคุณประโยชน์ในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบของสหประชาชาติ(UN)ได้มากยิ่งขึ้น
ในช่วงค่ำของวันเดียวกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองที่จัดโดยปธน. Heine โดยปธน.ไล่ฯ แถลงว่า ไต้หวัน - หมู่เกาะมาร์แชลล์ ต่างก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์วัฒนธรรมออสโตรนีเซียน ซึ่งรักและถนอมค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ จึงถือได้ว่า พวกเราเป็นครอบครัวเดียวกัน
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า ในอนาคต ไต้หวัน – หมู่เกาะมาร์แชลล์ จะประสานความร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่นต่อไป อาทิ ในด้านการศึกษา หลังจากที่อดีตปธน.ไช่อิงเหวิน ได้เดินทางเยือนหมู่เกาะมาร์แชลล์ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว และได้ร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยทุนการศึกษาประธานาธิบดี ระหว่างไต้หวัน - หมู่เกาะมาร์แชลล์” กับปธน. Heine ในครั้งนั้น จวบจนปัจจุบัน มีเยาวชนที่ได้รับทุนเป็นจำนวนกว่า 298 ราย โดยหวังที่จะอัดฉีดงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มวงเงินกองทุนการศึกษา ให้พัฒนาไปสู่มูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปธน. Heine ย้ำถึงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลหมู่เกาะมาร์แชลล์มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสนับสนุนไต้หวันและประชาชนชาวไต้หวัน จำนวน 23 ล้านคน อันจะเห็นได้จากเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปธน. Heine ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันบนเวทีการประชุมสหประชาชาติ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนนไต้หวันเข้าร่วมในระบบของ UN อย่างมีความหมาย หาก UN คิดเห็นว่า ไม่ควรมีผู้ใดสมควรถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ ก็ควรให้การยอมรับความมุ่งมั่นและความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนของไต้หวัน จึงจะสามารถร่วมพิชิตเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ