New Southbound Policy Portal

รมช.กต.ไต้หวันเข้าร่วมพิธีส่งคืนเมล็ดพันธุ์ใน “โครงการริเริ่มแผนปฏิบัติการส่งคืนเมล็ดพันธุ์ไต้หวัน – เอเชีย”

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 ธ.ค. 67
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมพิธีส่งคืนเมล็ดพันธุ์พืชใน“โครงการริเริ่มแผนปฏิบัติการส่งคืนเมล็ดพันธุ์ ไต้หวัน - เอเชีย (Taiwan Asia Vegetable Initiative, TAsVI) ที่จัดขึ้นโดยศูนย์พืชผักโลก (World Vegetable Center, WorldVeg) กิจกรรมในครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนและเจ้าหน้าที่ทางการทูตจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ประจำการอยู่ในไต้หวัน ให้เดินทางมาเข้าร่วมด้วย
 
รมช.เถียนฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ประสานความร่วมมือกระทรวงการเกษตรและ WorldVeg ในการมุ่งผลักดันโครงการ TAsVI ด้วยการส่งคืนเมล็ดพันธุ์ผักพื้นเมืองที่รวบรวมได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งเครือข่ายระดับภูมิภาค และแพลตฟอร์มความร่วมมือกับศูนย์วิจัยเมล็ดพันธุ์ของนานาประเทศ เพื่อร่วมแบ่งปันความรู้และทรัพยากรด้านการฟื้นฟูและการเพาะเมล็ดพันธุ์ผัก ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พืชผักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวันในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิกและเป็นประเทศเจ้าภาพของหน่วยงาน WorldVeg จะมุ่งให้ความช่วยเหลือการพัฒนาทางการเกษตรในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ร่วมกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ผ่านหลักการ “การทูตเชิงบูรณาการ” อย่างต่อเนื่องต่อไป
 
Dr. Marco Wopereis ผู้อำนวยการศูนย์ WorldVeg แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไต้หวันที่ให้การสนับสนุนโครงการ TAsVI อย่างหนักแน่น พร้อมใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ภาคประชาชนเฝ้าจับตาต่อประเด็นปัญหาการสูญพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์พืชผักอย่างรวดเร็ว ความหลากหลายของพืชผัก ถือเป็นคลังเสบียงอาหารที่สำคัญในยุคปัจจุบันและในอนาคต ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีเมล็ดพันธุ์พืชผักที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย และมีเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลและอนุรักษ์ร่วมกันจากนานาประเทศทั่วโลก
 
โครงการ TAsVI เป็นแผนปฏิบัติการที่ศูนย์ WorldVeg คิดค้นขึ้น เพื่อขานรับต่อแผนปฏิบัติการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพของพืชผัก ที่ยื่นเสนอโดยการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit) ในปี พ.ศ. 2564 ด้วยการจัดตั้งแพลตฟอร์มความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน เพื่อเชื่อมโยงคลังเมล็ดพันธุ์พืชผักในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวันและประเทศสมาชิกของศูนย์ WolrdVeg โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและส่งคืนเมล็ดพันธุ์ของพืชผักที่มีความพิเศษเฉพาะตัวที่ศูนย์ WorldVeg เก็บรวบรวมได้ในปี พ.ศ. 2533 และ 2543 และเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว ซึ่งมีส่วนช่วยในการยกระดับความมั่นคงทางอาหารในระดับสากล