New Southbound Policy Portal

ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ครั้งที่ 19”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 ธ.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 ธันวาคม 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ครั้งที่ 19” (Asia Democracy and Human Rights Award) โดยปธน.ไล่ฯ ทำหน้าที่เป็นประธานมอบรางวัลประจำปีนี้ให้แก่ “มูลนิธิสิทธิมนุษยชน Odhikar” ของบังกลาเทศ ที่มุ่งมั่นในการยกระดับสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองให้แก่ชาวบังกลาเทศ และมีความมุ่งมั่นกล้าหาญบนเส้นทางแห่งการแสวงหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า การธำรงปกป้องประชาธิปไตยจำเป็นต้องอาศัยความสามัคคีจากทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลจะมุ่งมั่นในการดำเนินภารกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการปกป้องประชาธิปไตยของไต้หวัน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับนานาประเทศ ทั้งนี้ เพื่อร่วมสร้างความยืดหยุ่นด้านประชาธิปไตยของโลกให้คงอยู่อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพต่อไป
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้ :
ในช่วงแรก ปธน.ไล่ฯ ในฐานะตัวแทนของภาคประชาชนชาวไต้หวัน ได้แสดงความยินดีกับมูลนิธิ Odhikar ที่ได้รับรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ครั้งที่ 19
 
มูลนิธิประชาธิปไตยแห่งไต้หวันยึดมั่นในจุดยืนการบริหารประเทศด้วยหลักสิทธิมนุษยชน จึงได้จัดตั้งรางวัลข้างต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของผู้อำนวยการและประธานคณะกรรมการบริหารทุกสมัยที่ผ่านมา ปัจจุบัน รางวัลดังกล่าวได้รับการยกระดับให้กลายเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแล้ว โดยในอนาคต พวกเราจะยังคงมุ่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงในเชิงลึก ระหว่างไต้หวันและทั่วโลกอย่างต่อเนี่อง ภายใต้การนำของนายหานกั๋วอวี๋ ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การยกย่องบุคคลและหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมประชาธิปไตยและธำรงรักษาสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย ผ่านการมอบรางวัลข้างต้น เพื่อสืบสานค่านิยมที่ไต้หวันยึดถืออย่างมั่นคงให้คงอยู่ต่อไป
 
มูลนิธิ Odhikar ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 มีพันธกิจในการยกระดับสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองของชาวบังกลาเทศ ซึ่งนอกจากจะต้องรับภาระตามหน้าที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบแล้ว ยังได้จัดทำและประกาศรายงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดเผยเรื่องราวการละเลยหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเปิดโปงพฤติกรรมที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
 
ไต้หวัน – บังกลาเทศ ต่างก็ก้าวผ่านแรงกดดันที่เกิดจากลัทธิอำนาจนิยม เนื่องจากพวกเรามีเหล่าวีรชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและนักเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิมนุษยชนมากมายหลายท่าน ที่ร่วมอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ส่งผลให้ประชาชนชาวไต้หวัน สามารถใช้ชีวิตในสังคมแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพได้อย่างมั่นคงและสงบสุข อีกทั้งยังสามารถร่วมกำหนดอนาคตของประเทศชาติได้ ผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยตนเอง
 
ในปัจจุบัน ไต้หวันถือเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาที่เจริญรุ่งเรือง และเป็นประเทศแนวหน้าที่ธำรงปกป้องประชาธิปไตย หลายปีมานี้ ข่าวปลอมและสงครามจิตวิทยา ถือเป็นวิกฤตความท้าทายร่วมกันของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก โดยไต้หวันได้มุ่งขยายกลไกความร่วมมือกับหุ้นส่วนนานาประเทศในวงกว้าง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกลยุทธ์การป้องกันและปราบปรามการแพร่กระจายข่าวปลอม ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) อย่างกระตือรือร้น
 
ปธน.ไล่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั่วโลกมีหน่วยงานพลเรือน เฉกเช่นมูลนิธิ Odhikar เกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมให้เป็นป้อมปราการด้านเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน มีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเชื่อว่า แนวคิดที่มุ่งมั่นและกล้าหาญของทุกท่าน จะนำพาให้พวกเราก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน