New Southbound Policy Portal

ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจากสถาบันบรูกกิงส์จากสหรัฐฯ

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 19 ธ.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจากสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 และเป็นประเทศแนวหน้าของระบบห่วงโซ่แห่งประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคต พวกเราจะมุ่งเดินหน้าตาม “แผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ 4 มิติ” เพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ และพันธมิตรแห่งประชาธิปไตย ภายใต้สถานการณ์โลกที่ผันผวน เพื่อเป็นพลังแห่งความดีในการสร้างประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรืองให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
 
ปธน.ไล่ฯ ชี้ว่า สถาบันบรูกกิงส์เป็นคลังสมองที่มีชื่อเสียงในระดับสากล ผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการวิจัยนอกจากจะรัฐบาลสหรัฐฯ นำไปใช้แล้ว ยังมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศอีกด้วย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันบรูกกิงส์อย่างต่อเนื่อง ผ่านการเดินทางเยือนไต้หวันของ Ms. Cecilia Rouse ประธานสถาบันบรูกกิงส์ ในครั้งนี้
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวอีกว่า แผนยุทธศาสตร์โลกในปัจจุบัน นับวันยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือและอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศในระบอบเผด็จการ ได้ประสานความเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แผนปฏิบัติการร่วมในภูมิภาคต่างๆ ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกที อันแสดงให้เห็นถึงการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ถือเป็นวิกฤตความท้าทายร่วมกันของประชาคมโลก ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องมีความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวด้วยว่า ต่อกรณีที่จีนคุกคามช่องแคบไต้หวันด้วยกำลังทหาร และยกระดับความตึงเครียดในไต้หวัน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน พวกเรารู้สึกขอบคุณสหรัฐฯ และพันธมิตรด้านประชาธิปไตย ที่มุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตย ด้วยการแสดงความกังวลอย่างเปิดเผย ต่อพฤติกรรมการบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันของจีน
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พวกเราจะมุ่งส่งเสริมศักยภาพทางกลาโหมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหมด้วยการพึ่งพาตนเอง หรือการขออนุมัติซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความทรหดทางเศรษฐกิจ และยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรแห่งประชาธิปไตย เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการป้องกันประเทศ อันจะเป็นการหลีกเลี่ยงการเกิดภัยสงคราม จึงจะกล่าวได้ว่า พวกเรามุ่งแสวงหาสันติภาพด้วยศักยภาพ บนพื้นฐานของการให้เคารพต่อกันอย่างเท่าเทียม โดยไต้หวันยินดีที่จะแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือกับจีน ในการส่งเสริมการพัฒนาทางสันติภาพ
 
ปธน.ไล่ฯ ชี้อีกว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้อตกลงฉบับแรกภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าแห่งศตวรรษที่ 21 ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ” มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ถือเป็นหลักชัยสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ซึ่งนอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังมีผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความร่วมมือในด้านต่างๆ อีกมากมาย ทั้งเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคงและการศึกษา รวมถึงวัฒนธรรม เป็นต้น
 
Ms. Cecilia Rouse ชี้ว่า การเดินทางเยือนในครั้งนี้ ประจวบกับเป็นวาระการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองของสหรัฐฯ โดยพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ มีกำหนดการจะจัดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2568 แม้ว่าผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในทุกๆ 4 ปี แต่ค่านิยมและผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน ระหว่างภาคประชาชนระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ยังคงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย
 
Ms. Cecilia Rouse หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจกับแนวคิดการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ และการสนับสนุนสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน ผ่านการเจรจาหารือกับปธน.ไล่ฯ และผู้นำทุกแวดวงในไต้หวัน ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการเติมเต็มศักยภาพการวิจัยของคณะตัวแทน เพื่อรักษาจุดยืนของสถาบันบรูกกิงส์ ที่ก้าวข้ามกรอบจำกัดของพรรคการเมืองและตั้งมั่นในจุดยืนที่เป็นกลางและอยู่บนหลักของความเป็นจริง