New Southbound Policy Portal

ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประธานใน “การประชุมคณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ครั้งที่ 2”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 26 ธ.ค. 67
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นประธานใน “การประชุมคณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ครั้งที่ 2” โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า เป้าหมายของคณะกรรมการชุดนี้คือการกำหนดแผนปฏิบัติการ ภายใต้หลักการ 5 มิติ ประกอบด้วย “การฝึกอบรมกำลังพลเรือนและการประยุกต์ใช้” “การรวบรวมเวชภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์และการแจกจ่ายสิ่งของอุปโภคบริโภค” “การบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและโครงสร้างสำคัญ” “สวัสดิการการแพทย์และอุปกรณ์การป้องกันภัยพิบัติ” และ “เทคโนโลยีสารสนเทศ การคมนาคมขนส่งและความมั่นคงทางเครือข่ายการเงิน” พร้อมทั้งอาศัยหลักการเหล่านี้ ในการทดสอบกลไกการรับมือกับภัยพิบัติ ระหว่างภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพทางกลาโหม พลเรือน การป้องกันภัยพิบัติและประชาธิปไตย รวม 4 มิติ
 
ปธน.ไล่ฯ ประกาศว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะบูรณาการ “การซ้อมหลบภัยทางอากาศว่านอัน” และ “การช่วยเหลือบรรเทาภัยหมินอัน” เข้าสู่ “การฝึกซ้อมความทรหดของเมืองประจำปี 2568” เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่กลไกการฝึกอบรมในระดับนานาชาติ นอกจากนี้  “การฝึกซ้อมความทรหดของเมือง ประจำปี 2568” จะไม่พึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทัพ แต่จะนำประสบการณ์ล่าสุดในระดับสากลมาใช้ประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแตกต่างแต่สอดรับกันอย่างลงตัวระหว่างการซ้อมรบ ภายใต้รหัสฮั่นกวง และการป้องกันประเทศโดยภาคประชาชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม จำเป็นต้องมุ่งเสริมสร้างกลไกการป้องกันประเทศโดยปราศจากการพึ่งพาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการกลาโหม ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าภาคพลเรือนมีศักยภาพในการปกป้องคุ้มครองความมั่นคงของสาธารณชนด้วยกันเอง  โดยปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า มีเพียงการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงจะสามารถยกระดับศักยภาพการป้องกันประเทศของไต้หวันในภาพรวมได้ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความทรหดทางประชาธิปไตยระดับสากล ตลอดจนเป็นการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ :
หากพิจารณาจากสถานการณ์ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งในและต่างประเทศต่างก็มีการพลิกผันอย่างรวดเร็ว กลุ่มประเทศอำนาจเผด็จการทั่วโลก ประสานความร่วมมือกันในการสร้างความท้าทายต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล ประกอบกับสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 ก็ได้รับการท้าทายจากการผนึกกำลังของกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยม
 
การเจรจาแผนปฏิบัติการฝึกซ้อมในครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานระบบการป้องกันภัยพิบัติที่ผ่านการสั่งสมประสบการณ์มาเป็นเวลานานหลายปีของไต้หวัน และพัฒนาไปสู่การรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบผสม ซึ่งพวกเราได้ประยุกต์ใช้วิธีการ “ตรึกตรองไว้แล้ว แต่ไม่มีสคริปต์” โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมไม่อาจทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น ซึ่งถือเป็นการทดสอบไหวพริบในการรับมือและเสนอแนวทางแก้ไขเมื่อเผชิญกับปัญหา ซึ่งจะมีความสอดคล้องต่อสถานการณ์วิกฤตในชีวิตจริงที่อาจเกิดขึ้น
 
เมื่อเผชิญกับผลกระทบที่มีต่อเสถียรภาพและความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ สถานการณ์แรก พวกเราจินตนาการว่า กำลังประสบกับความท้าทายที่เกิดจาก “แผนปฏิบัติการรุกรานที่เกิดจากกลยุทธ์พื้นที่สีเทาที่มีความรุนแรงขั้นสูง” ในสถานการณ์ที่สอง พวกเราจินตนาการว่าเกิด “สถานการณ์ที่อาจพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง” โดยมีเป้าหมายหลักคือการรักษาวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันด้านการบริหารภารกิจในภาคประชาสังคม ให้เกิดความราบรื่น
 
หลายปีมานี้ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดระดับสากลและการปะทุขึ้นของสงครามรัสเซีย - ยูเครน นานาประเทศทั่วโลกต่างมุ่งยกระดับความทรหดทางการป้องกันประเทศ ซึ่งรวมถึงองค์การนาโต้ (NATO) และสหภาพยุโรป (EU) ที่ต่างก็กำหนดแนวทางการเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า ไต้หวันมิใช่กรณีพิเศษ ภารกิจการเสริมสร้างยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ถือเป็นประเด็นร่วมกันในระดับสากล ส่วนการมุ่งเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ก็ถือเป็นความคาดหวังร่วมกันของประชาคมโลก
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ข้าพเจ้าได้เดินทางเยือนกลุ่มประเทศพันธมิตรอย่างหมู่เกาะมาร์แชลล์ ตูวาลูและปาเลา พร้อมแวะเยือนเกาะฮาวายและเกาะกวม ซึ่งมิตรสหายจากนานาประเทศล้วนแต่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น ตลอดจนแสดงความคาดหวังต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน