New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันเป็นประธานในพิธีสำเร็จหลักสูตรการบ่มเพาะบุคลากรจากกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2567

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 ม.ค. 68
 
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นประธาน “พิธีสำเร็จหลักสูตรการบ่มเพาะบุคลากรจากกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2567” ณ หอประชุมใหญ่ ชั้น 5 ของที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งได้มอบรางวัลรัฐมนตรีให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรที่มีผลคะแนนยอดเยี่ยม 5 อันดับ โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีซึ่งประกอบด้วย นายเซียวซินหวง ประธาน “มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย” (Taiwan-Asia Exchange Foundation, TAEF) นายจางอวี้หลิน ตัวแทนสำนักงานเจรจาทางเศรษฐกิจและการค้าแห่งสภาบริหาร และตัวแทนมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไทเป (Taipei Medical University, TMU) มหาวิทยาลัยจินเหมิน (National Quemoy University, NQU) มหาวิทยาลัยจงซิง (National Chung Hsing University, NCHU) มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทเป (Taipei Tech) และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง (NPUST) รวมถึงตัวแทนนักศึกษาจาก 12 ประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ รวม 104 คน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐของประเทศเป้าหมายที่ประจำการในไต้หวัน อย่างเวียดนาม นิวซีแลนด์ อินเดีย ไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่ประจำการในไต้หวัน ต่างส่งตัวแทนมาเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ส่งผลให้บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก
 
รมว.หลินฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า นับตั้งแต่ปี 2565 ที่กต.ไต้หวันประสานความร่วมมือกับสถาบันระดับอุดมศึกษาในประเทศ จัดหลักสูตรข้างต้นขึ้นเป็นต้นมา ตราบจนปัจจุบัน มีเยาวชนจากกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ 12 ประเทศ รวม 221 คน สำเร็จหลักสูตร ประกอบด้วย ออสเตรเลีย กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา เนปาล นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม ซึ่งในปี 2567 หลักสูตรข้างต้นได้มีการขยายขอบเขตการจัดอบรม รมว.หลินฯ จึงถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อคณะตัวแทนจาก 5 สถาบันที่ร่วมให้ความช่วยเหลือ นอกจากจะส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจต่อข้อได้เปรียบทางการพัฒนาของแต่ละสถาบัน อาทิ สาธารณสุขการแพทย์ เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ การวิจัยในภูมิภาคและพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเกษตรยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียน เข้าร่วมสัมผัสกับวัฒนธรรมไต้หวันในเชิงลึก โดยรมว.หลินฯ ยังใช้โอกาสนี้ แสดงความขอบคุณต่อคณะทูตานุทูตจากกลุ่มประเทศเป้าหมายที่ประจำการในไต้หวัน ที่ให้การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนของภาคเยาวชน
 
รมว.หลินฯ ระบุว่า ภายใต้ “การทูตเชิงบูรณาการ” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของกต.ไต้หวัน หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศเป้าหมาย ยกระดับไปสู่อีกขั้น รมว.หลินฯ เน้นย้ำว่า ตนได้ยื่นเสนอเป้าหมาย “การมุ่งใต้ใหม่เชิงดิจิทัล” พร้อมทั้งมุ่งส่งเสริม “โครงการความหวังของชาติใน 8 มิติ” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานอุตสาหกรรมที่เชื่อถือได้ 5 รายการ ซึ่งใน 8 มิติหลักดังกล่าว ประกอบด้วย ระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานใหม่และความร่วมมือด้านคาร์บอนเครดิต โครงการต้นแบบสวนอัจฉริยะในต่างแดน การแพทย์อัจฉริยะ และการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความทรหดทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
 
รมว.หลินฯ กล่าวว่า เพื่อขานรับ “โครงการกองทุนสานฝันเยาวชนในต่างแดนมูลค่าหมื่นล้านเหรียญ” ที่เสนอโดยประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขณะนี้ กต.ไต้หวันกำลังอยู่ระหว่างการวางแนวทางส่งเสริมให้เยาวชนในกลุ่มประเทศพันธมิตรเดินทางมาสานฝันในไต้หวัน ควบคู่ไปกับการจัดสรรทุนการศึกษาเพิ่มเติม และขยายขอบเขตโครงการแลกเปลี่ยนทูตเยาวชนนานาชาติ
 
ผู้ที่ได้รับรางวัลรัฐมนตรีประจำปีนี้ ต่างเห็นพ้องในการให้การยอมรับต่อคุณภาพของการศึกษาระดับอุดมศึกษา วัฒนธรรมทางประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง การเข้าเยี่ยมชมเพื่อการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีรูปแบบเสมือนจริง ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้พวกเขามองเห็นวิสัยทัศน์ใหม่บนโลกจากแง่มุมของไต้หวัน โดยหลังกลับสู่ประเทศมาตุภูมิแล้ว พวกเขาเหล่านี้จะนำภาพลักษณ์ของไต้หวันไปประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่ประจักษ์เป็นวงกว้าง กต.ไต้หวันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนจากกลุ่มประเทศเป้าหมายจะเดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนในไต้หวัน ผ่านโครงการข้างต้นนี้ต่อไปในอนาคต