New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทย วันที่ 4 มี.ค. 68
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 มีนาคม 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดค่ายฝึกอบรมนานาชาติว่าด้วยการจัดตั้ง การเตรียมความพร้อมและการรับมือด้านความยืดหยุ่นทางภาคประชาสังคม ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF)” พร้อมกล่าวว่า ความท้าทายในปัจจุบันยังคงไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์โรคระบาดและวิกฤตพลังงาน ประกอบกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ที่สร้างภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อกลุ่มประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมทางเสรีภาพ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้เป็นเรื่องไร้พรมแดน และมิสามารถมีประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะสามารถเผชิญหน้าได้เพียงลำพัง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ ไต้หวันมีศักยภาพและมีความสมัครใจ ที่จะสร้างคุณูปการที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ในด้านประชาธิปไตย สันติภาพและการพัฒนาความเจริญรุ่งเรือง และพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ประชาคมโลก ผ่านแพลตฟอร์ม GCTF ตลอดจนมุ่งประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมรับมือกับความท้าทายในอนาคตต่อไป
คำปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษของปธน.ไล่ฯ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ :
ก่อนอื่น ปธน.ไล่ฯ ขอแสดงความต้อนรับต่อเหล่าอาคันตุกะระดับนานาชาติ จำนวนกว่า 60 คน จาก 30 ประเทศ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในประเทศ ที่มารวมตัวกันในกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเปิดอภิปรายในประเด็นการจัดตั้ง การเตรียมความพร้อมและการรับมือด้านความยืดหยุ่นทางภาคประชาสังคม
ปธน.ไล่ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อหุ้นส่วนประเทศสมาชิก GCTF อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดา ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ พวกเราได้ประสานความร่วมมือกับหลายประเทศทั่วโลก ผ่านกรอบความร่วมมือ GCTF อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอบเขตการแลกเปลี่ยนยังคงขยายกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในรูปแบบใหม่
ในอนาคต พวกเราจะมุ่งผลักดันแผนปฏิบัติการใน 3 มิติหลัก ได้แก่ :
ประการแรก “การผนึกกำลังระหว่างภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ยกระดับความยืดหยุ่นทางภาคประชาสังคมอย่างครอบคลุม”
เมื่อปีที่แล้ว ปธน.ไล่ฯ ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” ขึ้นในทำเนียบปธน. โดยตารางการประชุมของค่ายกิจกรรม GCTF ในครั้งนี้ ครอบคลุมในหลายมิติ ประกอบด้วย การฝึกอบรมกำลังพลเรือน การรวบรวมเวชภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ และการบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและโครงสร้างสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความทรหดทางกลาโหม พลเรือน การรับมือกับภัยพิบัติและประชาธิปไตย
พวกเราจำเป็นต้องวางแผนในทุกมิติอย่างรัดกุม และต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของประเทศชาติ ประสานความร่วมมือกันอย่างสามัคคี ด้วยเหตุนี้ เมื่อปีที่แล้ว พวกเราจึงได้จัดการประชุมโต๊ะกลมแบบข้ามแวดวง ซึ่งได้รวบรวมเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง หน่วยงานท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ เพื่อทดสอบศักยภาพการรับมือต่อกรณีฉุกเฉินอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้งในกรณี “แผนปฏิบัติการเพื่อรับมือกับกลยุทธ์พื้นที่สีเทาแบบเข้มข้น” และ “ภาวะที่เข้าใกล้ความขัดแย้ง” เป็นต้น โดยในอนาคต พวกเราจะมุ่งยกระดับประสิทธิภาพความร่วมมือระหว่างภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพการรับมือกับภัยพิบัติของประเทศชาติในภาพรวม
ประการที่สอง "การเสริมสร้างศักยภาพการรับมือกับภัยพิบัติของภาคประชาชน"
พวกเราตระหนักทราบดีว่า การเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม จำเป็นต้องยกระดับความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงให้แก่ภาคประชาชน และทำความเข้าใจกับแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพการช่วยเหลือตนเอง การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งกันและกัน และการประสานความร่วมมือ
พวกเราขอแสดงความขอบคุณต่อสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) ที่ประสานความร่วมมือกับสมาคมทีมบุคลากรแพทย์เพื่อช่วยกู้ภัยไต้หวัน (Taiwan Development Association for Disaster Medical Teams) ในการผลักดันโครงการ “ส่งมอบความช่วยเหลือ” ทั่วทุกพื้นที่ไต้หวัน ซึ่งในปัจจุบันได้ทำการยกระดับสู่เวอร์ชันรูปแบบ 2.0 แล้ว โดยจะมุ่งฝึกอบรมศักยภาพการช่วยปฐมพยาบาลฉุกเฉินให้แก่ภาคประชาชน ซึ่งนอกเหนือจากโครงการข้างต้นแล้ว ยังได้มีการผลักดันการฝึกอบรม “อาสาสมัครกู้ภัย” ซึ่งกำหนดคุณสมบัติช่วงอายุไว้ที่ 11 – 89 ปี พร้อมกันนี้ พวกเรายังได้จัดตั้ง “ทีมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน” (Taiwan Community Emergency Response Team, T-CERT) ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญระดับประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพการรับมือกับภัยพิบัติด้วยตนเอง
ประการสุดท้าย “การนำเสนอข้อได้เปรียบของไต้หวัน ที่สามารถสร้างคุณูปการให้แก่ประชาคมโลก”
ไต้หวันมีศักยภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่แกร่งกล้าและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในอนาคต พวกเราจะจัดตั้งระบบคุ้มครองความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ครอบคลุม ควบคู่ไปกับการขยายขอบเขตการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของไต้หวัน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลก
นอกจากนี้ กิจกรรมในครั้งนี้ยังได้มุ่งเน้นการอภิปรายใน 6 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การสร้างฉันทามติเกี่ยวกับความยืดหยุ่นทางภาคประชาสังคม การฝึกอบรมกำลังพลเรือนและการประยุกต์ใช้ การรวบรวมเวชภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์และการแจกจ่ายสิ่งของอุปโภคบริโภค การบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและโครงสร้างสำคัญ สวัสดิการการแพทย์และอุปกรณ์การป้องกันภัยพิบัติ เทคโนโลยีสารสนเทศ การคมนาคมขนส่งและความมั่นคงทางเครือข่ายการเงิน อีกทั้งยังได้ติดต่อเชิญผู้ประกอบการนานาชาติ เข้าร่วมแบ่งปันแนวทางการเตรียมความพร้อมและการรับมือในกรณีฉุกเฉิน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะยกระดับศักยภาพความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในด้านการป้องกันภัยพิบัติและการรับมือกับวิกฤต ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบข้ามพรมแดน