New Southbound Policy Portal

ปธน.ไล่ฯ ชี้แจงหลักการสำคัญของการรับมือต่อมาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทน พร้อมเน้นย้ำว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ไต้หวัน - สหรัฐฯ ยึดมั่นร่วมกัน จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคภายใต้สถานการณ์ความผันผวนทางเศษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศได้

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 เม.ย. 68
 
บทความที่ยื่นเสนอโดยประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ภายใต้หัวข้อ “แนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ” ได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์สำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงให้บรรดาผู้อ่านทั่วโลกประจักษ์ถึงแนวคิดเชิงกลยุทธ์ที่ไต้หวันมีต่อกลไกการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าแบบทวิภาคี ผ่านการเสวนา ควบคู่ไปกับการขยายการลงทุนระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การปรับลดอัตราภาษีศุลกากรให้เหลือ 0%
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ตั้งอยู่บนหลักการค่านิยมทางประชาธิปไตยและเสรีภาพ ตลอดระยะที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้กับการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยมอย่างแน่วแน่ ประกอบกับไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่างก็เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีความสัมพันธ์แนบชิดระหว่างกัน ซึ่งนอกจากบริษัท TSMC จะประกาศอัดฉีดงบการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแล้ว ไต้หวันก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคี ทั้งในหมวดอุตสาหกรรมการผลิตและด้านนวัตกรรม เนื่องจากไต้หวันเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก เป้าหมายระยะยาวของพวกเราคือการร่วมจัดตั้งความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับนานาประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันเร่งขยายรากฐานธุรกิจไปสู่โลกนานาชาติ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงพาณิชย์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในเชิงลึกต่อไป
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราจะตอบสนองต่อภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal tariff) ที่ประกาศใช้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการยึดมั่นในหลักการข้างต้น อาทิ การปรับลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างกัน การแสวงหาช่องทางการเปิดการเจรจาทางการค้าขึ้นอีกครั้ง เพิ่มรายการการจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านพลังงาน การเกษตร อุตสาหกรรมและอาวุธยุทโธปกรณ์ ควบคู่ไปกับการอัดฉีดศักยภาพการลงทุนแบบทวิภาคี ขจัดซึ่งอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) และมุ่งแก้ไขปัญหากลไกการควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ควบคู่ไปกับการเพิ่มมาตรการควบคุมเพื่อแก้ปัญหาการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้ต่ำกว่าราคาทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ มาเป็นเวลานาน
 
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า แนวทางข้างต้นก่อให้เกิดเป็นแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาในไต้หวัน ภายใต้สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการค้า โดยพวกเราจะพลิกวิกฤตความท้าทายด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ มาเป็นโอกาสใหม่ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เสริมสร้างความทรหดและเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยความไม่แน่นอนในโลกสากล เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยมจากจีน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่แนบแน่นระหว่างกัน นอกจากจะมีส่วนช่วยในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแล้ว ยังถือเป็นเสาหลักสำคัญของความมั่นคงในภูมิภาคอีกด้วย
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า กลยุทธ์ข้างต้นตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสัมพันธไมตรีอันยาวนาน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ และการยึดมั่นในผลประโยชน์ทางการค้าอย่างเกื้อกูล รวมไปถึงหลักการการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน โดยในอนาคต พวกเราเชื่อมั่นว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ไต้หวัน - สหรัฐฯ ยึดมั่นร่วมกัน นอกจากจะสามารถฝ่าฟันสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้มุ่งสู่อนาคตที่เปี่ยมเสรีภาพและเปิดกว้างต่อไป