New Southbound Policy Portal
สภาบริหาร วันที่ 10 เม.ย. 68
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรีไต้หวันได้เข้าร่วมกิจกรรมการเสวนากับตัวแทนภาคอุตสาหกรรม ที่จัดขึ้นในนครเถาหยวน พร้อมระบุว่า รัฐบาลได้ยื่นเสนอ “แผนการสนับสนุนระบบห่วงโซ่อุปทานการส่งออกของไต้หวัน เพื่อรับมือกับภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ” เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ที่เกิดจากมาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal tariff) ที่ประกาศโดยประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อช่วงที่ผ่านมา เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความทรหดและศักยภาพทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มกำลัง พร้อมกันนี้ สภาบริหารจะประกาศแจ้งแนวทางการยื่นขอความช่วยเหลือจากมาตรการอุดหนุนต่อภาคสาธารณชน ในวันที่ 14 เมษายน 2568 ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็จะมุ่งคว้าโอกาสการเจรจาโดยตรงและมีประสิทธิภาพกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 90 วันของการระงับมาตรการภาษี อย่างกระตือรือร้น
นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กลไกความสบเรียบร้อยระหว่างประเทศทั่วโลกประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการขาดดุลการค้า ควบคู่ไปกับการจัดตั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับประเทศ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีมติปรับมาตรการภาษีศุลกากรทางการค้า โดยนรม.จั๋วฯ ได้ทำการชี้แจงหลักการการดำเนินงานของภาครัฐ ในแง่มุม 4 มิติ ดังนี้ : (1) “การรับมือที่ฉับไว” ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2568 หลังจากที่สภาบริหารเปิดตัว “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ภายใต้สภาบริหาร” ก็ได้ทำการจัดตั้ง “คณะทำงานด้านการทูตเชิงเศรษฐกิจ” ภายใต้กรอบโครงสร้างข้างต้นควบคู่ไปด้วย โดยกำหนดให้การทูต เศรษฐกิจและการค้า ผสานรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกันนี้ สภาบริหารยังได้ทำการจัดตั้ง “คณะทำงานด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ” เพื่อตอบสนองต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยมีนางเติ้งลี่จวินเป็นผู้นำทีม ในการเฝ้าติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั่วโลก อันเนื่องมาจากการปรับนโยบายของสหรัฐฯ ภายหลังการเลือกตั้ง
(2) “เสถียรภาพ” ของรัฐบาล ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ได้เรียกร้องให้ทีมเจ้าหน้าที่สภาบริหารมีสติในการคิดหาแนวทางการรับมือในทิศทางที่ประนีประนอม และเป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนในระยะยาว ห้ามมิให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงบางประการ (3) “ความทรหด” ผลการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่แวดวงอุตสาหกรรมมีต่อคุณลักษณะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และเล็งเห็นว่า ประชาคมโลกไม่อาจมองข้ามบทบาทสำคัญของไต้หวันในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งภาคประชาชนในประเทศก็ล้วนแต่มองเห็นข้อได้เปรียบเช่นนี้ด้วย
(4) “ศักยภาพการบริหารงาน” ของรัฐบาล ในช่วงระยะเวลา 90 วันที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศระงับมาตรการภาษีต่างตอบแทน รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งมือเสริมสร้างความเชื่อมั่นของแวดวงผู้ประกอบการมิให้เกิดความหวาดระแวงต่อโครงสร้างทางการเงินของกิจการ
นรม.จั๋วฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการเจรจากับตัวแทนภาคอุตสาหกรรมในการลงทุนจัดตั้งโรงงานในสหรัฐฯ นรม.จั๋วฯ ได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการมุ่งดำเนินการตามตามหลักการ 2 ประการ ดังนี้ : (1) การรักษาสถานภาพผู้นำของไต้หวันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระดับนานาชาติ โดยเทคโนโลยีที่ทันสมัยจำเป็นต้องได้รับการถนอมรักษาให้คงอยู่ภายในประเทศอย่างยั่งยืน (2) ผู้ประกอบการที่เข้าลงทุนในต่างประเทศ จำเป็นต้องยึดมั่นในหลักการ “ไต้หวัน+1” โดยตั้งรากฐานที่คงมั่นในไต้หวัน ควบคู่ไปกับการควบคุมมิให้เกิดวิกฤตความไม่มั่นคงในภาพอุตสาหกรรมของไต้หวัน
นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า แผนการอุดหนุนอุตสาหกรรม รวม 20 มาตรการใน 9 มิติ ด้วยงบประมาณ 88,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ที่ยื่นเสนอโดยรัฐบาลไต้หวันจะยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดิม และจะทำการปรับเปลี่ยนตามกระบวนการและผลการเจรจากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ ภายหลังจากนี้ต่อไป
นรม.จั๋วฯ เน้นย้ำว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็คือความมั่นคงของประเทศชาติ การรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพกับนานาประเทศทั่วโลก จะมีส่วนช่วยให้ไต้หวันครองบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างยั่งยืนต่อไป