New Southbound Policy Portal
สภาบริหาร วันที่ 14 เม.ย. 68
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2568 นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรีไต้หวัน ได้ให้การต้อนรับ Ms. Ruth Bradley-Jones ผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษประจำไทเป (British Office Taipei) และคณะตัวแทน พร้อมทั้งกล่าวว่า สหราชอาณาจักรได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership, CPTPP) อย่างเป็นทางการในปี 2567 โดยไต้หวันก็หวังที่จะสร้างคุณูปการด้านการบูรณาการเศรษฐกิจและการค้าภายใต้กรอบ CPTPP ในฐานะที่เป็นสมาชิกสำคัญของระบบห่วงโซ่อุทปานโลก จึงหวังที่จะเห็นรัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนช่วยเหลือไต้หวันเข้าร่วม CPTPP อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อสร้างระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมทันสมัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานค่านิยมสากล อีกทั้งยังเป็นการรักษาระเบียบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่ตั้งมั่นอยู่บนรากฐานทางเสรีภาพ โดยในอนาคต ไต้หวัน – อังกฤษ ยังมีพื้นที่ให้เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอีกมาก ทั้งในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านพลังงาน ความทรหดทางดิจิทัลและเสถียรภาพระบบการเงิน รวมไปถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต
เริ่มต้น นรม.จั๋วฯ ได้แสดงความขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ที่ได้ประกาศแถลงการณ์เพื่อแสดงความห่วงกังวลในกรณีที่จีนเข้าทำการซ้อมรบในพื้นที่รายรอบไต้หวัน เมื่อวันที่ 2 เมษายน พร้อมทั้งระบุว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลก
นรม.จั๋วฯ ระบุว่า Ms. Bradley-Jones เป็นผู้มากประสบการณ์ในกิจการภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในกระทรวงฯ ซึ่งเคยได้รับมอบหมายให้เดินทางไปประจำการที่เมียนมาถึง 2 ครั้ง จึงเกิดความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก อย่างลึกซึ้ง
นรม.จั๋วฯ แถลงว่า หลายปีมานี้ เราจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการจากอังกฤษหลายรายได้ให้ความสนใจเข้าร่วม พร้อมยินดีที่จะทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวัน ในกิจกรรมต่างๆ อาทิ “นิทรรศการเซมิคอนดักเตอร์นานาชาติไต้หวัน” “การประชุมกิจการอวกาศนานาชาติไต้หวัน” และ “นิทรรศการพลังงานลมนานาชาติในเอเชีย – แปซิฟิก” นอกจากนี้ ในปี 2566 ไต้หวัน - อังกฤษ ยังได้ร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น” (Enhanced Trade Partnership (ETP) Arrangement) นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปร่วมจัดตั้งกรอบโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างมีระบบกับไต้หวัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกใน 3 ประเด็น ได้แก่ “การลงทุน” “การค้าเชิงดิจิทัล” รวมถึง “พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์”
Ms. Bradley-Jones แถลงในแง่มุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า โดยระบุว่า แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Strategy) ของอังกฤษ และ “อุตสาหกรรมที่เชื่อถือได้ 5 รายการ” ของไต้หวัน มีหลายส่วนที่สามารถส่งเสริมเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานสะอาด การผลิตที่ทันสมัยและการบริการทางการเงิน ซึ่งล้วนเปี่ยมด้วยศักยภาพความร่วมมือในภายภาคหน้า โดยรัฐบาลอังกฤษจะให้สนับสนุนความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนแบบทวิภาคีอย่างเต็มกำลัง
Ms. Bradley-Jones ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เราสามารถขยายขอบเขตทางความร่วมมือด้านเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ทั้ง AI เซมิคอนดักเตอร์และความมั่นคงทางไซเบอร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานโลกที่มั่นคงและมีความยืดหยุ่น ในส่วนด้านพลังงานสะอาด อังกฤษถือเป็นหุ้นส่วนที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งแก่ไต้หวันเสมอมา และได้ค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออกรวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านปอนด์สำหรับโครงการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งของไต้หวัน นอกจากนี้ ในด้านความมั่นคงและความทรหดของไต้หวัน อังกฤษก็มุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันจัดตั้งกลไกความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคมอย่างเต็มกำลัง ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถเรียนรู้ความทรหดและข้อได้เปรียบของกันในด้านต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น
Ms. Bradley-Jones เน้นย้ำว่า ไต้หวัน – อังกฤษเป็นหุ้นส่วนที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน การยึดมั่นในค่านิยมที่คล้ายคลึงและการเคารพซึ่งกันและกัน