New Southbound Policy Portal
กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 23 เม.ย. 68
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวัน ได้ติดต่อเชิญให้ Ms. Helena Reitberger ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและการลงทุนสวีเดนประจำกรุงไทเป และ Mr. Martin Solvinger และ Mr. Mattias Qvist ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจากกรมสรรพากรสวีเดน เข้าร่วมแบ่งปันความรู้ในหัวข้อ “ประสบการณ์การลดก๊าซเรือนกระจก : การเสวนาระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม และการดำเนินระบบภาษีคาร์บอนและ ETS ควบคู่กัน” ผ่านรูปแบบไฮบริด ทั้งการประชุมในสถานที่จริงและรูปแบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นระบบภาษีคาร์บอนและระบบการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป ที่รัฐบาลสวีเดนใช้ควบคู่กัน รวมไปถึงประเด็นการให้ความสำคัญต่อการเสวนาระหว่างผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านนโยบายการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ ในการบรรลุประสิทธิภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของสวีเดนในครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้เป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของไต้หวัน ในภายภาคหน้าต่อไป
ผอญ. Reitberger เน้นย้ำว่า นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา สวีเดนประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในสัดส่วนร้อยละ 37% และสามารถพิชิตเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้พัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างพลังงานที่สอดคล้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยในปี 2534 รัฐบาลสวีเดนได้ริเริ่มการบังคับใช้ระบบภาษีคาร์บอน โดย Mr. Solvinger นักวางกลยุทธ์ระดับอาวุโสของกรมสรรพากร ได้ยื่นเสนอข้อมูลสถิติ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การเติบโตของ GDP และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีส่วนสัมพันธ์กันในเชิงรุก
ภาษีคาร์บอนของสวีเดนและระบบการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU ETS) ถือเป็นกลไกการกำหนดราคาคาร์บอน 2 รูปแบบที่ทำงานควบคู่ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งภาษีคาร์บอนมุ่งเน้นไปที่แหล่งกำเนิดสารมลพิษทางอากาศ และหน่วยงานที่มิได้รวมอยู่ใน ETS ในขณะที่ ETS ครอบคลุมในอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานเข้มข้นในการผลิต (energy intensive industries) โดยการทำงาน 2 ระบบเช่นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดราคาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างครอบคลุม ควบคู่ไปกับการพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมต่างๆ และต้นทุนของการลดการปล่อยก๊าซ โดยผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดนชี้ให้เห็นว่า หลายปีมานี้ ทิศทางของนโยบายสวีเดน ค่อยๆ มุ่งสู่ทิศทาง ETS และการปรับเปลี่ยนระบบภาษีคาร์บอนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
รมว.เผิงฯ ชี้แจงต่อ ผอญ. Reitberger ว่า ในปีนี้ ไต้หวันได้ประกาศใช้ระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเป็นทางการ ซึ่งระยะที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมส่วนมากล้วนได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และการถอนตัวออกจากความตกลงปารีส ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศต่างสัมผัสได้ถึงแรงกดดันในการถูกเรียกเก็บภาษีคาร์บอน โดยรมว.เผิงฯ เน้นย้ำว่า ขณะนี้ ระบบภาษีคาร์บอนยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไต้หวันได้ริเริ่มวางแผนการนำหลักการ ETS มาประยุกต์ใช้ โดยในอนาคต พวกเราจะมุ่งผลักดันภาษีคาร์บอนและ ETS ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน โดยอ้างอิงแนวทางจากประสบการณ์ตรงของสวีเดน
กลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกของสวีเดนในรูปแบบ “การประสานความร่วมมือไตรภาคี” (Triple Helix) เน้นย้ำให้รัฐบาล หน่วยงาน แวดวงวิชาการ ผู้ประกอบการ สมาคมและสังคมพลเรือน ร่วมเปิดการเสวนากันที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าจะเสียเวลาในการเปิดการเจรจากันหลายฝ่าย แต่รูปแบบการบริหารเช่นนี้ ได้รับการปลูกฝังที่ลึกลงสู่ระดับชั้น DNA ของสวีเดนแล้ว การร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างกันในครั้งนี้ ทำให้พวกเรายิ่งตระหนักถึงกลยุทธ์และประสบการณ์เชิงปฏิบัติในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของสวีเดน ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นหลักอ้างอิงให้แก่ไต้หวัน ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในอนาคตต่อไป